ภตช. ยื่นหนังสือให้ ศธ. ลงโทษผู้มีเอี่ยวทุจริตสอบนายสิบ

0
200
ภตช. ยื่นหนังสือให้ ศธ. ลงโทษผู้มีเอี่ยวทุจริตสอบนายสิบ

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560  ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) ได้ยื่นหนังสือถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ขอให้ดำเนินการจากกรณีพบทุจริตการการสอบข้อเขียนเพื่อบรรจุบุคคลเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ประจำปี 2559 โดยมีการจ้างนักศึกษาระดับหัวกะทิของประเทศ มาจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำหลายแห่ง เข้าร่วมสอบกับผู้ที่ต้องการสอบเข้านายสิบตำรวจ เพื่อส่งสัญญาณคำตอบให้ลูกค้า หรือ ผู้ต้องการสอบเข้าด้วยวิธีทุจริต โดยได้รับค่าจ้างอัตรา 20,000-30,000 บาท

ภตช. ยื่นหนังสือให้ ศธ. ลงโทษผู้มีเอี่ยวทุจริตสอบนายสิบ

โดยขอให้ดำเนินการ ดังนี้

1.ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการลงโทษสถานหนักกับนักศึกษาที่เป็นมือปืนรับจ้างเข้าสอบดังกล่าว

  1. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แก้ไขระเบียบ ศธ. ว่าด้วย การลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ให้มีโทษสถานหนักขึ้น ในกรณีที่นักศึกษาไปกระทำการทุจริต ทำให้สถาบันการศึกษาเสียชื่อเสียง เสียหายต่อวิชาชีพ อาทิ แพทยศาสตร์,วิศวกรรมศาสตร์,ทันตแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และ

3.ขอให้ตั้งกรรมการสอบและลงโทษ กับ หัวหน้าภาควิชา คณบดี อธิการบดี ที่มีนักศึกษาในคณะดังกล่าวรับจ้างกระทำการทุจริตการสอบ เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างของการปล่อยปะละเลย ไม่ดูแลนักศึกษาของตนเองให้อยู่ในความสุจริต

ทั้งนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า พฤติกรรมของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเป็นการใช้ความเก่ง ความรู้ ความสามารถ ที่มีไปในในทางที่ผิด โดยเกิดเหตุการ์ณดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น ศธ. จะเร่งขยายผลและปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต สร้างชาติ และหน้าที่พลเมือง ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครู อาจารย์ ต้องช่วยกันปลูกฝัง ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

“ผมจะหารือกับ   นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. และ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. ว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนเรื่องนี้มีรูปแบบที่ชัดเจนและเป็นการสอนที่สนุกสนาน เด็กที่เรียนเก่งถ้ารู้จักนำความเก่งไปใช้ในทางที่ถูกที่ควรก็จะเกิดประโยชน์ได้วงกว้าง แต่ถ้าไปทำผิดๆ เช่น รับจ้างช่วยคนโกงสอบแบบนั้น ก็จะมีผู้ตั้งคำถามว่าจบมาจากที่ไหน กลายเป็นว่าเสียหายกันไปทั้งระบบ ดังนั้น เราต้องสอนให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต สร้างชาติ และหน้าที่พลเมือง ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีการเรียนการสอนในวิชาสังคมศึกษาอยู่แล้ว แต่ต้องให้ทุกคนตระหนักมากขึ้น ทำให้เรื่องเหล่านี้โดดเด่นชัดเจน และสง่างาม โดยรูปแบบการสอนควรทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน ไม่ใช่เน้นวิชาการเกินไป ” รมช. ศธ.กล่าว.

ขณะที่ ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า กรณีนี้จะต้องมีการดำเนินการ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมือง และ ส่วนที่ 2 ดำเนินการตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯ ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษ 4 ระดับคือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ตัดคะแนนความประพฤติ และปรับพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯ นั้นจะล้อตามออกพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดว่าการลงโทษเด็ก ทำได้อย่างไรมากน้อยแค่ไหน แต่จะไม่มีการลงโทษด้วยการไล่ออก ทั้งนี้ ในส่วนของการดูแลพฤติกรรมเด็กของสถานศึกษานั้น หากพบว่ามีการกระทำผิดและมีการพิจารณาลงโทษก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากตักเตือน เพราะในบางกรณีหากพบว่ามีกระทำผิดชัดเจนก็อาจจะลงโทษในขั้นสุดท้าย คือ ปรับพฤติกรรมได้ เป็นต้น.

ที่มา : www.dailynews.co.th