“จีน” เหมาะจะเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกหรือไม่ ?

0
2047

ขณะที่สถานการณ์ของสหรัฐฯ ยังคุกรุ่นฝุ่นตลบจากบรรยากาศทางการเมืองภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ อันเป็นผลมาจากนโยบายสุดโต่งของเขาเอง อีกฟากฝั่งมหาอำนาจอย่างประเทศจีนก็กำลังเติบโตมากขึ้นในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่หลายสำนักออกมาฟันธงว่า อีกไม่นานพี่จีนคงเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกแซงอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ

มากไปกว่านั้น บนเวที World Economic Forum (WEF) ซึ่งเป็นการประชุมของเหล่านักการเมือง นักธุรกิจ และนักวิชาการระดับโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้นำจีน “สีจิ้นผิง” เป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่เข้าร่วม WEF และสามารถแสดงบทบาทการเป็นผู้นำการค้าโลกผ่านสุนทรพจน์ที่เป็นที่น่าประทับใจไปทั่วโลก

การกล่าวสุนทรพจน์ของ สีจิ้นผิง มีวาทะที่คมคาย แต่ละประโยคล้วนแฝงไว้ซึ่งแนวคิดยุคใหม่ มีการยกตัวอย่างและคำเปรียบเปรยมาใช้ในการพูดถึงโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้า การพัฒนาประเทศจีน ฯลฯ เช่น “การผลักดันให้เกิดการกีดกันทางการค้าก็เหมือนกับการขังตัวเองไว้ในห้องมืด ถึงแม้ว่าลมและฝนภายนอกอาจจะสงบลงแล้ว แต่ห้องมืดก็ยังบดบังแสงแดดและอากาศไม่ให้เข้ามาในห้องได้ ซึ่งจะไม่มีใครสามารถคว้าชัยชนะในสงครามทางการค้าได้เลย”

“เราไม่ได้อิจฉาในความสำเร็จของผู้อื่น อีกทั้งจะไม่กล่าวหาว่าใครเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากโอกาสที่เกิดขึ้นเพราะการพัฒนาของประเทศจีน แต่เราจะอ้าแขนรับผู้คนจากประเทศอื่นๆ ต้อนรับพวกเขาขึ้นสู่รถไฟสายด่วน ที่รวดเร็วราวกับการพัฒนาของจีน” วาทะคมคายของสีจิ้นผิง

แล้วทำไมสีจิ้นผิงในฐานะผู้นำจีนถึงกล้านำเสนอตัวเองเป็นผู้นำโลก ?

หาคำตอบได้ไม่ยากจากสิ่งที่จีนแสดงให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2559 GDP ของจีนเท่ากับ 74.4 ล้านล้านหยวน (10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งแม้จะชะลอตัวไปบ้าง แต่ถือว่าเป็นระดับที่ใช้ได้ รวมถึงบทบาทสำคัญบนเวทีเศรษฐกิจโลก จากการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB (Asia Infrastructure Investment Bank) ซึ่งก็คือคู่แข่งของธนาคารโลก ที่สหรัฐฯเป็นหัวหอกนั่นเอง และสามารถผลักดันสกุลเงินหยวนให้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตะกร้าสกุลเงินเอสดีอาร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้

ไหนจะนโยบาย One Belt, One Road หรือ “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” ที่เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญ ที่จีนให้กับประเทศที่ร่วมกันสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ ท่าเรือ ทางหลวง และเส้นทางการบิน เพื่อให้แนวคิด One Belt, One Road เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับทุกประเทศเข้าร่วมโครงการ ถึงแม้จะเป็นการเดินเกมระยะยาวและมีปัญหาจิปาถะ แต่ดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มที่ดี ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจจีนที่ทะยานสู่การเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของโลก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดโลก และเมื่อไม่นานมานี้ KANTAR Millward Brown ในเครือ WPP จับมือกับ Google ทำการวิจัยสำรวจการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์จีนที่สยายปีกจากบ้านเกิด ออกไปสู่ระดับโลก ปรากฎว่ามี 30 แบรนด์จีนที่ติดอันดับเป็นที่รับรู้ ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น บริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba, ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Tencent รวมถึงแบรนด์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก Lenovo, Huawei, Mi, Vivo, Oppo ฯลฯ

อย่างไรก็ดี การเติบโตของจีนอย่างรวดเร็วนี้ ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนโยบายบางอย่างของจีนก็มีเสียงคัดค้านจากประชาคมประเทศอื่น ๆ อยู่เหมือนกัน เช่น โครงการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง เพื่อ “ปรับปรุงร่องน้ำ” เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการนี้ประเทศจีนจะร่วมมือกับ 5 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง เพื่อพัฒนาช่องทางการจัดส่งหลักในเส้นทางแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) อันจะทำให้การเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงสะดวกขึ้น โครงการนี้มีเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่ รวมทั้งบรรดาเอ็นจีโอในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย เนื่องจากหวั่นเกรงว่าหากเกิดการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง หลายสิ่งอย่างที่เคยดำรงอยู่อาจจะต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการระเบิดเกาะแก่ง

อีกประเด็นปัญหาใหญ่ของจีนก็คือ การบริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ (SOE) ซึ่งจีนมี SOE มากถึง 150,000 แห่ง และรายได้ของ SOE คิดเป็นเกือบ 40% ของ GDP จีนมีการปฏิรูปด้านนี้แต่คืบหน้าช้ามาก นักวิชาการจาก IMF คาดการณ์ว่าถ้าจีนไม่เร่งจัดการกับปัญหานี้ GDP มีโอกาสชะลอลงเหลือ 3% ภายในปี 2564 ทั้งนี้ ถ้าจีนแก้ปัญหา SOE ได้ เศรษฐกิจจีนจะแข็งแกร่งกว่าเดิมมาก และสามารถบินได้สูงและมั่นคงขึ้นไปอีกบนเวทีโลก

มาถึงคำถามที่ว่า “จีน” เหมาะจะเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกหรือไม่ ทั้งหมดนี้ น่าจะฉายภาพให้เห็นแล้วว่าขณะนี้จีนเป็นประเทศใหญ่ที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอยู่ หากนโยบายต่างๆ ไปถูกทิศถูกทาง ไม่ตกม้าตายเสียก่อน ไม่นานเกินรอเราอาจได้เห็นมังกรสยายปีกอย่างสง่างามก็เป็นได้

ณจักร วงษ์ยิ้ม