ไชนีส ซูเปอร์ลีก : แหล่งขุดทองของนักเตะระดับโลก

0
651

ช่วงหลังมานี้ ข่าวคราวการย้ายทีมของบรรดานักเตะระดับโลกไปซบลีกแดนมังกร “ไชนีส ซูเปอร์ลีก” สร้างความฮือฮาไม่น้อย โดยเฉพาะดีลของ “ออสการ์” ยอดดาวเตะชาวบลาซิลเลี่ยน วัย 25 ปี ที่ย้ายมายังสโมสร เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ด้วยค่าตัว 52 ล้านปอนด์ ทำให้กลายเป็นผู้เล่นที่เชลซีขายในราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร และยังเป็นเจ้าของสถิติแข้งค่าตัวสูงสุดในลีกจีนอีกด้วย (ธ.ค. 2559) ทั้งนี้ เขาได้รับค่าเหนื่อย 400,000 ปอนด์ หรือ ประมาณ 17 ล้านบาทต่อสัปดาห์เลยทีเดียว

และล่าสุด “ดีเอโก้ คอสต้า” ศูนย์หน้าวัย 28 ปี ของเชลซี ก็ตกเป็นข่าวลืออย่างหนักว่าเตรียมย้ายไปค้าแข้งกับ “เทียนจิน ฉวนเจียน” ในซัมเมอร์นี้ ด้วยค่าเหนื่อยที่อาจสูงถึง 570,000 ปอนด์ หรือ ประมาณ 25 ล้านบาทต่อสัปดาห์ แม้เจ้าตัวจะออกมายืนยันว่าเรื่องนี้สื่อนั่งเทียนกุขึ้นมาเอง แต่มูลเหตุก็เกิดจากการมีปัญหาไม่ลงรอยกันระหว่างคอสต้า กับ อันโตนิโอ คอนเต กุนซือของสิงโตน้ำเงินนั่นเอง ทำให้หลายฝ่ายยังไม่ปักใจเชื่อ

อย่างไรก็ดี ยังมีแข้งทองระดับซูเปอร์สตาร์อีกไม่น้อยที่ย้ายไปเฉิดฉายในลีกจีน อย่างเช่น กองหน้าค่าเหนื่อยสูงที่สุดในโลก “คาร์ลอส เตเวซ” ที่เล่นให้กับสโมสร เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว รับค่าเหนื่อย 615,000 ปอนด์ หรือ ประมาณ 27 ล้านบาทต่อสัปดาห์, “ฮัลค์” ซูเปอร์สตาร์ของทีมชาติบลาซิล ย้ายร่วมทัพ เซียงไฮ้ เอสไอพีจี ด้วยค่าเหนื่อย 317,000 ปอนด์ หรือ ประมาณ 13.9 ล้านบาทต่อสัปดาห์ รวมถึง “กราเซียโน่ เปลเล่” ที่อำลาพรีเมียร์ลีก มาซบ ซานตง ลู่เหนิง พร้อมรับค่าเหนื่อย 260,000 ปอนด์ หรือ ประมาณ 11 ล้านบาทต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีนักฮวดลูกหนังอีกหลายคนที่มาโกยเงินถุงเงินถังในไชนีส ซูเปอร์ลีก

อะไรกันเล่า เป็นเหตุผลที่ทำให้เหล่าสโมสรยักษ์ใหญ่จากลีกแดนมังกร ยอมทุ่มทุนมหาศาลคว้าตัวดาวดังระดับโลกมาร่วมทีม ?

ม่า เตอ ซิง นักข่าวคนดังจากไตตัน สปอร์ต หนังสือพิมพ์กีฬาของประเทศจีน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแค่เศรษฐีอยากเอาชนะกันเท่านั้น พวกเขาแค่อยากชนะให้เยอะๆ และได้แชมป์ “การซื้อนักเตะดังๆ คือทางลัดที่เร็วที่สุดในการไปถึงจุดนั้น และพวกเขาไม่สนว่า ต้องจ่ายเท่าไหร่”

ทั้งนี้ ในปี 2559 ไชนีส ซูเปอร์ลีก มีรายได้ราวๆ 132 ล้านปอนด์ จากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่ปีก่อนหน้า มีรายได้เพียง 1 ล้านปอนด์เท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าการดึงนักเตะระดับเทพเข้ามาสร้างสีสันในลีกจีน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไชนีส ซูเปอร์ลีกบูมขึ้น มียอดผู้ชมในสนามและนอกสนามเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งผลดีต่อรายได้ของนักเตะจีนเองที่ขยับสูงมากขึ้นอีกด้วย

การบูมของกระแสลีกแดนมังกรที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าสอดรับกับ นโยบายของ “สีจิ้นผิง” ผู้นำจีน ที่อยากเห็นกีฬาฟุตบอลได้รับความสนใจจากประชาชนจีนมากขึ้น และสามารถยกระดับให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้ออก “แผนงานพัฒนาและปฏิรูปฟุตบอล” อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งมีการตั้งเป้าไว้ว่าอีก 10 ปี ทีมฟุตบอลชายจะต้องเข้ารอบชิงแชมป์ฟุตบอลโลกและฟุตบอลโอลิมปิกให้ได้ และเพื่อสานฝันนี้ให้เป็นจริง จึงมีการอนุมัติงบฯให้ทันที 5 ล้านล้านหยวน ตั้งกองทุนฟุตบอลแล้วให้เอกชนเข้าไปมีส่วนช่วยผลักดันอย่างเต็มที่ แถมยังให้กระทรวงศึกษาจัดหลักสูตรให้ทุกโรงเรียนต้องมีชั่วโมงสอนฟุตบอล เพื่อสร้างนักเตะหน้าใหม่ขึ้นให้ได้ปีละ 100,000 คนเป็นอย่างน้อย

นำไปสู่การออกกฎให้ทุกท้องถิ่นถือเรื่องสร้างสนามฟุตบอลเป็นสำคัญ โรงเรียนกว่า 20,000 แห่งจะต้องมีสนามฟุตบอลและที่ฝึกซ้อมให้กับเด็กๆ มอบหมายให้กระทรวงกีฬาทำหน้าที่ผลิตบุคลากรด้านฟุตบอล เช่น ผู้ฝึกสอน กรรมการตัดสิน แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ให้กับทุกเมือง ทุกมณฑล ส่งเสริมการเล่นฟุตบอลให้เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมแพร่หลายตั้งแต่ระดับรากหญ้า ไปถึงระดับชาติ และระดับมืออาชีพ

ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะการทุ่มเม็ดเงินมหาศาลของสโมสรยักษ์ใหญ่ในการดึงตัวแข้งระดับโลกมาสู้ศึกไชนีส ซูเปอร์ลีก รวมทั้งแผนพัฒนาวงการฟุตบอลของผู้นำจีน ต่างก็ทำให้พ่อแม่พี่น้อง ผู้ปกครอง เด็ก และเยาวชน หันมาสนใจกีฬาลูกหนังกันมากขึ้น ส่งผลให้มีการยกระดับวงการฟุตบอลจีนให้สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

ไชนีส ซูเปอร์ลีก จึงไม่ใช่แหล่งขุดทองของนักเตะต่างชาติเพียงอย่างเดียว อีกหนึ่งบทบาทสำคัญก็คือ เป็นสนามประลองฝัน สร้างแรงบันดาลใจ ให้เหล่าอาตี๋ก้าวมาเป็นนักฟุตบอลรุ่นใหม่ที่มีฝีเท้าจัด ทัดเทียมนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ และออกไปเฉิดฉายในวงการลูกหนังโลก ซึ่งจีนจะทำได้อย่างที่หวังหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป…

ณจักร วงษ์ยิ้ม