นักวิชาการร่วมถกแก้ไขความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น

0
180
รุ้งหลังฝนพรำ! นักวิชาการร่วมถกแก้ไขความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (23 ก.พ. 2017) นักวิชาการชาวจีนและชาวต่างประเทศกว่า 50 คน ต่างออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ผ่านการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์และการสื่อสารเชิงลึกในงานสัมมนา ที่จัดขึ้นในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่รู้จักกันดีในฐานะสถานที่เกิดเหตุการณ์ “สังหารหมู่” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

การสัมมนาหัวข้อ “วิสัยทัศน์ใหม่เกี่ยวกับความสงบสุขของเอเชียตะวันออก” จัดขึ้นโดยสมาคมการศึกษาสันติภาพแห่งประเทศญี่ปุ่น (PSAJ) คณะประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยหนานจิง และองค์กรอิสระหลายแห่งในประเทศจีน

ผู้เชี่ยวชาญได้บรรลุฉันทามติว่าทั้งสองประเทศควรเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตและเดินหน้าไปสู่อนาคตด้วยกัน เพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันให้แข็งแกร่ง

“องค์ประกอบหลักทั้ง 4 อย่างของการประนีประนอม คือ ความจริง ความยุติธรรม การให้อภัย และความสงบสุข ประชาชนจะไม่สามารถหลุดพ้นจากความทรงจำอันเจ็บปวดที่ผ่านมาได้ จนกว่าพวกเขาจะได้รับการยืนยันว่าเรื่องราวเหล่านี้กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง” Liu Cheng อาจารย์คณะประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยหนานจิงกล่าว

โคดามะ คัตสึยะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิเอะของญี่ปุ่นได้ใช้คำว่า “รุ้ง” กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นว่า เหมือนกับวันแดดจัด ที่มีฝนตกลงมา และย่อมเกิดสายรุ้งในภายหลัง จีนและญี่ปุ่นสามารถสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ผ่านการแลกเปลี่ยนทวิภาคีด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา และการบรรเทาภัยพิบัติ

ในวันที่ 13 ธันวาคม 1937 กองทัพญี่ปุ่นได้เริ่มรุกรานเข้ามาในเมืองหนานจิง หลังจากนั้นในช่วงเวลามากกว่า 1 เดือน พลเรือนชาวจีนก็ถูกฆ่าไปกว่า 300,000 คน และมีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนไปกว่า 20,000 คน

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มนักชาตินิยมญี่ปุ่นที่ได้ให้การปฏิเสธต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่าไม่ทราบจำนวนผู้เสียชีวิต กล่าวหาว่ากลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้การเท็จ หรือแม้แต่กล่าวหาว่าการสังหารหมู่หนานจิงไม่เคยเกิดขึ้น