​ก้าวสำคัญของ “นครซีอาน” สู่ Made in China 2025

0
206

โมเดลเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ของหลายประเทศชั้นนำทางอุตสาหกรรม ล้วนแล้วแต่อยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่นกรณีที่สหรัฐอเมริกาพูดถึง A Nation of Makers อินเดียที่กำลังผลักดัน Make in India และเยอรมนี ประเทศแรกๆ ของโลกที่ประกาศเดินหน้าสู่ Industry 4.0 ได้อย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2013

อีกฟากหนึ่งของโลก “จีน” ประเทศมหาอำนาจในเอเชียก็ไม่ตกขบวนแนวคิดเหล่านี้ พัฒนานโยบายจาก “China Industry 4.0” สู่การประกาศโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “Made in China 2025” เตรียมพร้อมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างเต็มตัว  การตื่นตัวครั้งนี้ทำให้ประเทศทั่วโลกหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะตระหนักดีว่าเมื่อชาติใดพร้อมก่อนในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม นั่นหมายถึงโอกาสในการครองพื้นที่ตลาดการค้าโลก

สำหรับ “Made in China 2025” เป็นยุทธศาสตร์สร้างประเทศจีนให้มีความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมการผลิตด้วยด้วยนวัตกรรมชั้นสูง เกิดขึ้นอย่างครบวงจรภายใน ปี 2025 มุ่งเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างอัจฉริยะ เปลี่ยนจีนจากเดิมที่เป็นเพียงโรงงานโลก ให้เป็นผู้นำฐานการผลิตโลกตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบ ผสมผสานนวัตกรรมการวิจัยให้เกิดผลิตภัณฑ์คุณภาพ ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตแห่งโลกอนาคต ในการจัดการทุกกระบวนการอุตสาหกรรมให้รวดเร็วและเป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโมเดลนี้คือ “นครซีอาน” เมืองเอกของมณฑลส่านซี เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายไหมที่ได้รับการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตามแผนการพัฒนาจีนตะวันตกทุกด้าน ทั้งการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การพัฒนาผลิตชิ้นส่วนและส่งออกซอฟแวร์ด้านอากาศยานป้อนบริษัทผลิตเครื่องบินอย่างโบอิ้งและแอร์บัสด้วยนวัตกรรมใหม่ กระทั่งเป็นศูนย์กลางหลักด้านวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาบุคคลากรเฉพาะด้านเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ล่าสุดปลายปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560 คณะกรรมการเขตพัฒนาอุตสาหกรรมระดับสูงนครซีอาน (Xian-High-Tech Industrial Development Zone: XHTZ) ได้ลงนามความร่วมมือกับ BYD บริษัทผลิตรถยนต์ด้วยนวัตกรรมรายใหญ่ของจีนใน 3 โครงการใหญ่ ได้แก่

1) โครงการ High-End Smart Terminal Manufacturing เพื่อการผลิตรถโค้ชพลังงานสะอาด รถบัสพลังงานไฟฟ้าและสายการผลิตรถรางเดี่ยว มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านหยวน (2 พันล้านบาท) โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าการผลิตถึง 25,000 ล้านหยวนต่อปี (1.3 แสนล้านบาท)

2) โครงการผลิตรถโดยสารพลังงานทางเลือกใหม่ มีแผนการลงทุนมูลค่ากว่า 2,000 ล้านหยวน (ราว 10,000 ล้านบาท) กำลังการผลิตมากกว่า 5,000 คันต่อปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 (ปี 2558-2562) ซึ่งรถโดยสารที่ผลิตในโครงการนี้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการคมนาคมในพื้นที่มณฑลส่านซีและพื้นที่อื่นๆ ในจีน สร้างนครซีอานเป็นเมือง “One-day Transportation”

3) โครงการรถไฟรางเดี่ยวชนิดวางคร่อมราง (Straddle-type Monorail) มูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านหยวน (ราว 10,000 ล้านบาท) ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงประกอบรถไฟ โรงผลิตรางรถไฟ และโรงผลิตชิ้นส่วน คาดการณ์มูลค่าการผลิตราว 10,000 ล้านหยวนต่อปี (ราว 51,000 ล้านบาท) เมื่อโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 10,000-30,000 คนต่อชั่วโมง ซึ่งมีต้นทุนการผลิตและการก่อสร้างต่ำกว่ารถไฟใต้ดิน

โครงการดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างที่ตอบโจทย์ Made in China 2025 อย่างชัดเจน และมีแนวโน้มว่าจีนจะประสบความสำเร็จในเวทีโลกได้ไม่ยาก ด้วยความพร้อมด้านนวัตกรรมและความพยายาม  เชื่อมเอเชียกับยุโรป “นครซีอาน” จุดเริ่มต้นทางสายไหมแห่งนี้จึงมีแนวโน้มที่สดใส และยังนำร่องปฏิรูปเพื่อยกระดับเขต XHTZ ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนที่การลงทุนเมื่อเปิดเขตการค้าเสรีมณฑลส่านซีอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน