​เกาหลีใต้ตั้งเป้าชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก้าวสู่สังคมไร้เหรียญ

0
196

นับเป็นความพยายามของหลายประเทศทั่วโลก ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกรรมการเงินภายในประเทศให้เกิดความมั่นคง สะดวก รวดเร็ว ในแต่ละการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยใช้กระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล เช่น หมายเลขประจำตัวบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หรือรหัสผ่านเฉพาะบุคคล ในการทำธุรกรรมประเภทต่าง ๆ ให้เกิดความสมบูรณ์สูงสุด พร้อมกับการตั้งเป้าลดบทบาทการถือเงินสด หรือเหรียญต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

ยุคหลัง ผู้คนค่อย ๆ ถูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นความเคยชินและเกิดภาวะ “สังคมไร้เงินสด” (cashless society) ชัดเจนขึ้น ทุกอย่างง่ายดายสำหรับคนที่เข้าถึงเทคโนโลยี.. บางวันแทบไม่ต้องจับเงินสด แค่มีโทรศัพท์มือถือ และรหัสผ่านต่าง ๆ เท่านั้น โมเดลต่าง ๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ กระทั่งความพยายามถัดมา อย่างการเปลี่ยนผ่านสู่ “สังคมไร้เหรียญ ” (coinless society ) จึงกลายเป็นโจทย์สำหรับบางประเทศเพื่อการจัดระเบียบด้านการทำธุรกรรม

 “เกาหลีใต้” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ส่งเสริมแนวคิดให้ประชาชนใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และช่วยลดปริมาณเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal economy) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กฎหมายเข้าไปไม่ถึงและไม่สามารถดูแลให้มีประสิทธิภาพ เช่น การจ้างงานที่ไม่มีการลงทะเบียน หรือ SME ที่ไม่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้เข้าสู่รัฐ ซึ่งเป็นพื้นฐานกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ล่าสุด ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea) วางแผนนำร่องทดลองลดการใช้เหรียญให้ได้ภายในปี 2563 โดยเบื้องต้นจะร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ และ     ผู้ให้บริการบัตรเติมเงินหรือบัตรเงินสดประเภทต่าง ๆ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อประสบความสำเร็จก็จะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมไปยังซูปเปอร์มาเก็ต ร้านขายยา และธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ

หันกลับไปถึงเหตุผลจำเป็นที่ต้องลดการใช้เหรียญในเกาหลีใต้ พบว่าที่ผ่านมา ธนาคารกลางเกาหลีใต้     มีต้นทุนในการผลิตเหรียญกษาปณ์ปีละกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้นทุนการผลิตต่อเหรียญมีมูลค่าสูงกว่าราคาหน้าเหรียญ และประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มไม่นิยมใช้เหรียญในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ช่วงหลัง อย่างเช่นปี 2558 ธนาคารกลางสามารถทยอยลดการผลิตเหรียญกษาปณ์มูลค่ารวมเหลือเพียง 1.03 แสนล้านวอน (3.2 พันล้านบาท) จากในปี 2548 ที่ผลิตเหรียญกษาปณ์มูลค่ารวมสูงถึง 1.38 แสนล้านวอน (4.3 พันล้านบาท) ประกอบกับข้อมูลอัตราการถือบัตรเครดิตของประชาชนในเกาหลีใต้ที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ประมาณ 2 ใบต่อคน ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าแนวคิดสู่สังคมไร้เหรียญครั้งนี้ น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

ความท้าทายของเรื่องนี้อยู่ที่การสร้างความเข้าใจกับประชาชน สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องให้รับรู้ถึงความตั้งใจ และแยกให้ชัดระหว่าง “สังคมไร้เหรียญ” และ “สังคมไร้เงินสด” เพราะการเริ่มต้นเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์นั้น ต้องเปลี่ยนจากพฤติกรรมที่คุ้นเคยของชาวเกาหลีที่ยังติดกับการใช้เงินสดในชีวิตประจำวันในโอกาสสำคัญต่าง ๆ

นอกจากเดนมาร์ก สวีเดน และประเทศแถบยุโรปที่ประกาศเลิกใช้เงินสดชัดเจนแล้ว ในเอเชีย อย่างไทยเราก็มีแนวคิด “สังคมไร้เงินสด” เช่นกัน ดังเห็นได้จากโครงการใช้จ่ายผ่านระบบ “National e- Payment Master Plan” ของรัฐบาล ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หวังก้าวสู่ ”Digital Economy” ตามนโยบาย Thailand 4.0 แผนแม่บทของไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นและเราต้องเรียนรู้จาก “สังคมไร้เหรียญ” พร้อมกับเป้าหมายลดการใช้เงินสดจากเกาหลีใต้ และชาติต่าง ๆ ก็คือ “ความปลอดภัยของข้อมูล” ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาการจารกรรมล้วงข้อมูล อันนำไปสู่ความเสียหายมหาศาลและอาจขยายไปสู่ความมั่นคงได้ในอนาคตด้วย

ที่มา : www.mfa.go.th/business/th/articles