รู้จัก “บล็อกเชน” เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในยุคอินเตอร์เน็ต 2.0 (ตอนที่ 2 )

0
319

ในตอนที่ 1 เราได้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยี “บล็อกเชน” (Blockchain) กันไปแล้วว่ามีการทำงานอย่างไรและจะเริ่มเห็นการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาปรับใช้ในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงความท้าทายของการนำบล็อกเชนไปปรับซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โลกการเงินเท่านั้น แต่ในธุรกิจอื่น ๆ สามารถปรับใช้ได้เช่นกัน รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้วที่เทคโนโลยีบล็อกเชนจะล้มเหลว และการปรับตัวของภาครัฐ เอกชนไทยต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้

นายอเล็กซ์ แทปสก็อตต์ ผู้เขียนหนังสือ “BLOCKCHAIN REVOLUTION: How the Technology Behind Bitcoin is Changing Money, Business, and the World” ยังกล่าวเพิ่มว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนยังสามารถปรับใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ เช่น ในประเทศฮอนดูรัส การสร้างเอกสารเพื่อการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินก็เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งผู้ที่ครอบครองที่ดินกว่า 70% เข้าใจว่า ที่ดินเป็นของตนเอง และมีกรรมสิทธิ์อย่างแน่นอน แต่แล้วการถือครองที่ดินกลับมีการเปลี่ยนเจ้าของโดยที่ไม่รู้ตัว ทำให้ต้องถูกบังคับออกจากที่ดิน ซึ่งแน่นอนว่า บล็อกเชนจะเข้าไปช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ มีความถูกต้องมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิดของบล็อกเชนที่ว่า ข้อมูลจะต้องมีความปลอดภัย มีการเผยแพร่ และบันทึกไว้ในทุกที่อย่างเป็นธรรม เพื่อป้องกันการปลอมแปลงโดยมิชอบ ในมหานครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เช่นกันหน่วยงานภาครัฐเริ่มมีการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้งานโดยมีนโยบายให้ผู้ที่สนใจจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้เพื่อพัฒนาระบบตรวจคนเข้าเมือง เพราะหน่วยงานรัฐคาดการณ์ว่า การนำบล็อกเชน มาใช้งานจะช่วยคัดกรองคนเข้าประเทศได้ดีขึ้นถึง 50% จากปัจจุบันที่ปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองเป็นปัญหาที่เริ่มลุกลามมากขึ้น

นอกจากนี้บล็อกเชน ยังมีการใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ อีกมากมายในหลายภาคส่วน เช่น การจดทะเบียนใบรับรองคุณภาพเพชร การร่วมพัฒนาและจดทะเบียนโครงข่ายการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานทดแทน รวมถึงการจัดเก็บเอกสารในการทำธุรกรรมสัญญาค้ำประกัน เป็นต้น ซึ่งการปรับใช้ส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการเริ่มต้นทดสอบถึงการใช้งาน

อย่างไรก็ตามบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังมีความซับซ้อน นายอเล็กซ์ แทปสก็อตต์ จึงคาดการณ์ 10 แนวโน้มที่จะทำให้เทคโนโลยีอย่างบล็อคเชนล้มเหลวได้แก่ 1) การขาดความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี 2) ระบบใช้พลังงานมากเกินไปจนเกิดความไม่มั่นคง อาจเกิดระบบล่ม 3) ภาครัฐอาจยับยั้งหรือบิดเบือนรวมถึงเข้ามาผูกขาดการทำงานของระบบเอง 4) กลุ่มอำนาจเก่าในระบบอาจผูกขาดหรือแย่งชิงระบบนี้ไว้ใช้เอง 5) แรงจูงใจในวงกว้างที่จะใช้งานระบบนี้ไม่มากพอที่จะทำให้ระบบการทำงานแบบเก่าล่มสลาย 6) บล็อกเชนทำให้อาชีพลดลง เกิดการว่างงานขึ้น 7) มาตรการของภาครัฐไม่สามารถควบคุมระบบนี้ได้ 8) การกระจายผู้ดูแล จะทำให้เกิดระบบที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การปิดตัว เพราะตัวข้อมูลกระจายกันไปตามที่ต่าง ๆ 9) ภาครัฐสามารถเข้าถึง ตรวจดูข้อมูลของเราได้ตลอดเวลา และ10)อาจถูกนำไปใช้ทางด้านอาชญากรรม

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะถือเป็นเรื่องใหม่แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ธุรกิจจึงต้องปรับตัวเข้ากับนวัตกรรมใหม่ ๆ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มมีนโยบายนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับสตาร์ทอัพ ทดสอบกระดานการลงทุนเฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นการทดสอบระบบแยกจากการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามถือว่าการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทยและยังต้องศึกษาการพัฒนาการใช้เทคโนลียีนี้ต่อไปในอนาคต

ส่วนภาคเอกชนไทย ธนาคารกสิกรไทย เริ่มมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้แล้วเช่นกันแต่ยังไม่ได้เป็นการใช้ในการแลกเปลี่ยนธุรกรรมทางการเงินในระบบออนไลน์ แต่จะนำมาใช้กับการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบ โดยโครงสร้างพื้นฐานบล็อกเชนที่นำมาใช้ในครั้งนี้มีชื่อว่า “ไฮเปอร์เลจเจอร์” (Hyperiedger) ของบริษัท IBM ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานในมาตรฐานเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะพิเศษที่สามารถกำหนดสิทธิให้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น (Private Blockchain)

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเคลื่อนไหวก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา “Blockchain” เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เกิดขึ้นซึ่งมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้นการศึกษา สร้างการรับรู้ การเตรียมความพร้อม และการสร้างความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะกลายเป็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการในการคว้าโอกาสใหม่ ๆ เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการธุรกิจได้อย่างทันยุคสมัยและเกิดประโยชน์มากที่สุด


ที่มา : www.mfa.go.th/business/th/articles