​“เจิ้งเหอ” มหาขันที สู่ตำนาน “ซำปอกง” เทพเจ้านำโชค

0
10748

เวลากว่า 417 ปีที่อยุธยาเป็นราชธานีของไทย ด้วยลักษณะของพื้นที่ของเมืองอยุธยาเป็นเกาะและรายรอบไปด้วยแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ ป่าสัก ลพบุรี และเจ้าพระยา จึงทำให้อยุธยากลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญและรุ่งเรืองไปด้วยสรรพสินค้าจากนานาประเทศที่ได้เข้ามาทำการติดต่อด้านการค้าหรือสานสัมพันธ์ด้านการทูตกับอาณาจักรอันรุ่งเรืองในดินแดนสุวรรณภูมิอย่าง “อยุธยาราชธานี”

จีนและไทยมีสายสัมพันธ์เรื่องการค้าด้วยกันมาตลอด โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา จีนเป็นชนชาติแรกๆ ที่ติดต่อกับอยุธยาและดินแดนใกล้เคียง ทั้งทางบกและทางน้ำด้วยเรือสำเภา จึงเกิดชุมชนชาวจีนขึ้นในแต่ละดินแดนที่ได้เยี่ยมเยือน

จีนฮกเกี้ยนถือเป็นเชื้อสายชาวจีนที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในสมัยอยุธยาและมีบทบาทในราชสำนัก ส่วนชาวจีนแต้จิ๋วมีจำนวนน้อยและเข้ามามีบทบาทการค้าสมัยกรุงธนบุรีในภายหลัง

สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. 2252-2276) และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2276-2301) เป็นช่วงที่การค้าไทย-จีน รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก อยุธยายกย่องให้ชาวจีนเป็นกลุ่มคนพิเศษไม่ต้องสังกัดระบบไพร่ เนื่องจากต้องการให้ชาวจีนเป็นเหมือนตัวกลางการค้าระหว่างอยุธยาและภูมิภาคอื่นๆ ที่จีนเดินทางไป และแต่งตั้งให้ชาวจีนเป็นขุนนางในราชสำนักโดยตั้งตำแหน่ง “หลวงโชฎึกราชเศรษฐี” มีศักดินา 1,400 เป็นเจ้ากรมท่าซ้ายและมีหน้าที่ดูแลชาวจีนในอยุธยา

นอกเหนือจากความสัมพันธ์ด้านการค้าแล้ว วัฒนธรรมจีนยังได้แฝงอยู่ในโบราณสถานในอยุธยาอีกด้วย

“วัดพนัญเชิง” วัฒธรรมสถานเชื้อสายจีน

สันนิษฐานว่า วัดพนัญเชิง สร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาราว 26 ปี บริเวณนอกเกาะอยุธยาเดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีน ญี่ปุ่น และโปรตุเกส ริมปากแม่เจ้าพระยาใกล้บรรจบกับแม่น้ำป่าสัก เดิมชื่อว่า “วัดพระเจ้าพแนงเชิง” มีความหมายว่า นั่งขัดสมาธิ หมายถึง พุทธไตรรัตนนายก ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารใหญ่ พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดให้ หน้าตักกว้าง 20 เมตร 17 เซนติเมตร สูง 19 เมตร  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” ชาวบ้านเรียก หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง (ซำปอ แปลว่า ไตรรัตน์ และกง เป็นคำใช้เรียกผู้มีความรู้และคุณธรรม) และเป็นที่เคารพของคนไทยเชื้อสายจีน

สำหรับในประเทศไทยมีหลวงพ่อซำปอกง ประดิษฐานอยู่ 3 วัด ได้แก่ วัดพนัญเชิง จ.อยุธยา วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี และที่วัดอุภัยภาติการาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตั้งชื่อตามความเชื่อและนับถือ ซำปอกง  มหาขันทีผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้เดินทางเยือนอาณาจักรอยุธยา สันนิษฐานว่าบริเวณวัดพนัญเชิงแห่งนี้เป็นสถานที่จอดกองเรือของเจิ้งเหอในอดีต

ภายในวัดพนัญเชิงยังมีอาคารสำคัญและแสดงอิทธิพลความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย คือ

พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงกัน 3 องค์ ได้แก่ พระเงิน พระทอง และพระนาก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยปลายสุโขทัย พระวิหารน้อย ภายในมีโต๊ะหมู่บูชาเทพเจ้าตามความเชื่อจีน และฝาพนังจิตรกรรมสมัยใหม่รูปโต๊ะหมู่บูชาแบบจีน เก๋งจีน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก อยู่ด้านหลังพระวิหารใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมจีนที่สร้างล้อมลานขนาดเล็ก ด้านหลังเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนมีองค์จำลองของเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

เจิ้งเหอ สู่ตำนาน ซำปอกง

หนังสือบางเล่มกล่าวว่าอยุธยาเป็นหนึ่งใน 30 ประเทศที่เจิ้งเหอได้ไปเยือนครอบคลุมตั้งแต่อินโดนีเซีย ถึงเมืองเอเดน และมาดากัสการ์ตะวันออกของแอฟริกา และเดินทางมาถึงอยุธยาเมื่อเดือน 9 ในปี พ.ศ.1953

เจิ้งเหอ หรือที่รู้จักกันในนาม ซำปอกง เดิมชื่อ หม่าเหอ เกิดในต้นราชวงศ์หมิง ที่เมืองคุนหยาง มณฑลยูนนาน ครอบครัวเป็นมุสลิมและนับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาได้รับความดีความชอบจนกระทั้งได้พระราชทานแซ่เจิ้ง จึงเรียกว่า “เจิ้งเหอ”

ในยุคราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1943-1967) จักรพรรดิหยงเล่อ มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจิ้งเหอเป็นมหาขันที ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือจีน และเดินทางสำรวจด้วยกองเรือมหาสมบัติ ซึ่งถือว่าเป็นกองเรือที่มีขนาดใหญ่และดีที่สุดในสมัยนั้น ประกอบด้วยเรือ 62 ลำ และเรือธงของเจิ้งเหอ 4 ลำ ทหารประจำการทั้งหมด 27,870 คน แบ่งลูกเรือประจำลำละ 300 คน เรือลำใหญ่ที่สุดยาว 140 เมตร กว้าง 60 เมตร สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ลำละประมาณ 1,000 คน ใช้เวลาเดินทางเป็นระยะเวลา 28 ปี ออกสำรวจเส้นทางเดินเรือทั้งหมด 7 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.1948-1976  กล่าวได้ว่า เรือธงของเจิ้งเหอมีขนาดใหญ่กว่าถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับเรือซานตามารีอาของสเปน  (The Santa Maria) โดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopoher Columbus) ใช้สำรวจและทำให้ค้นพบหมู่เกาะเวสต์อินดิส ในปี พ.ศ.2035

การเดินเรือครั้งที่ 1 เจิ้งเหอนำกองเรือเดินทางไปเยือนจามปา ปาเล็มบัง มะละกา เซมูเดรา และคาลิกัต โดยในครั้งนั้นเจิ้งเหอได้ปราบปรามโจรสลัดชาวจีนแห่งปาเล็มบังนามว่า “เฉินจู่อี้” โดยนำตัวไปสำเร็จโทษที่กรุงนานกิง และต่อมาจีนก็ได้แต่งตั้งให้ ซือจิ้นชิง ดำคงตำแหน่งข้าหลวงผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยของจีนประจำปาเล็มบัง

การเดินเรือครั้งที่ 2 ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เจิ้งเหอได้เดินทางไปด้วยหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ก้องเรือของจีนก็ได้เดินทางไปเยือนชวา อยุธยา ลังกา และกาลิกัต

การเดินเรือครั้งที่ 3 เจิ้งเหอได้เดินทางไปยังจามปา ชวา มะละกา เซมูเดรา ลังกา และคาลิกัต โดยที่เกาะลังกานั้น กษัตริย์วีระ อลกิสวระ ทรงเมินเฉยต่อคณะกองเรือของจีน เจิ้งเหอจึงได้ใช้กำลังจับกุมกษัตริย์องค์ดังกล่าว นำตัวไปรับโทษต่อจักรพรรดิหย่งเล่อที่กรุงนานกิง ทั้งนี้ ในที่สุดกษัตริย์วิระ อลกิสวระ ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษและเดินทางกลับลังกาได้

การเดินเรือครั้งที่ 4 กองเรือของเจิ้งเหอได้เดินทางไปไกลกว่าครั้งก่อนๆ โดยไปถึงเมืองฮอร์มุซ ของเปอร์เซีย โมกาดิชู และมาลินดี ในแอฟริกาตะวันออก โดยขากลับ ณ เกาะสุมาตรา เจิ้งเหอได้เข้าไปปราบปรามกองกำลังของเซเคนดาร์ ซึ่งก่อการลุกฮือเพื่อโค่นล้มอำนาจการปกครองของซาอิน อัล-อาบิดิน กษัตริย์แห่งเซมูเดราที่ได้รับการรับรองจากจีน

การเดินเรือครั้งที่ 5 เดินทางไปถึงโซมาลิแลนด์ และหมู่เกาะแซนซิบาร์ ทางชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริการ โดยได้นำเครื่องบรรณาการแปลกๆ จากดินแดนดังกล่าวกลับมาถวายจักรพรรดิหย่งเล่อ โดยเฉพาะยีราฟ ซึ่งจีนเข้าใจ (ผิด) ว่าเป็น “ฉีหลิน” หรือกิเลน สัตว์มงคลตามความเชื่อของจีน

การเดินเรือครั้งที่ 6 แม้ว่าครั้งนี้เจิ้งเหอจะเดินทางไปแค่เมืองคาลิกัตทางชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย หากแต่กองเรือย่อยที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเขา ก็ได้เดินทางไปถึงเมืองเอเดน และดูฟาร์ ในคาบสมุทรอาระเบีย รวมทั้งโมกาดิซูและบราวา ทางชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา

การเดินทางครั้งที่ 7 ถือเป็นการท่องสมุทรครั้งสุดท้ายของชีวิตเจิ้งเหอ โดยได้เดินทางไปเยือนจามปา ชวา ปาเล็มบัง มะละกา ชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย ฮอร์มุซ ซึ่งกองเรือส่วนหนึ่งได้แยกไปยังอยุธยา ระหว่างนั้นเจิ้งเหอก็ล้มป่วยและเสียชีวิตลงในปี พ.ศ.1976 รวมอายุได้ 62 ปี

อย่างไรก็ดี ตามประเพณีชาวมุสลิมจะต้องรีบฝังศพโดยเร็วที่สุด จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ลูกเรือจะนำศพของเขาโยนลงในทะเล ส่วนสุสานของเจิ้งเหอที่เมืองนานกิงนั้นเข้าใจว่าจะเป็นเพียงอนุสรณ์รำลึกถึงเจิ้งเหอเท่านั้น ไม่ได้มีศพของเขาฝังอยู่แต่อย่างใด

การนับถือให้เจิ้งเหอเป็นเทพเจ้าไม่ปรากฏว่ามีมาแต่เมื่อใด คำว่า ซำปอกง หรือ ซานเป่า หมายถึง แก้วสามดวง จนพุทธศาสนิกชนเข้าใจผิดว่าเจิ้งเหอได้เปลี่ยนศาสนาจากอิสลามมาเป็นพุทธ ส่วนการยกย่องเจิ้งเหอให้เป็นถึงขั้นเทพเจ้านั้น อาจจะมาจากการจอดพักของกองทัพเรือมหาสมบัติในอุษาคเนย์ซึ่งเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากปัจจัยพักรอลมมรสุมและวางแผนเพื่อเดินเรือ ผู้คนและชุมชนละแวกที่เจิ้งเหอจอดเรือจึงรู้สึกผูกพันกับกองเรือ เกิดการสร้างศาลเจ้า และสถานที่เพื่อรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือมหาสมบัติและความยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนยิ่งให้ความเคารพนับถือ ยกให้ซำปอกงเป็นเทพเจ้านำโชค นิยมขอพรในเรื่องโชคลาภ

ด้วยประวัติศาสตร์การเดินเรือครั้งยิ่งใหญ่นี้ผู้คนจึงขนานนามเจิ้งเหอว่า “ซันเป่ากง” “ซำปอกง  หรือ “ซำปอตั้วหลาง” ซึ่งแปลว่า ท่านผู้มีนามอันยิ่งใหญ่

ความเชื่อดังกล่าวพิสูจน์ได้ว่า ความสัมพันธ์จีน-ไทย ไม่ว่าจะเรื่องใด วัฒนธรรมชนชาติจีนได้แทรกซึมเข้าไปในความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมของคนไทยมาอย่างยาวนานแล้ว

ที่มา : นิตยสาร New Silk Road ฉบับที่ 14