​หารือแนวทางผลักดันการท่องเที่ยวและบริการ สู่ภาคการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ

0
94

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานสานพลังประชารัฐ (คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ : Public-Private Steering Committee) ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (D3) และนายชนินทธ์ โทณวณิก หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงาน D3 ประชุมหารือความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE กับผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

การประชุมหารือครั้งนี้ คณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (D3) ได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีและผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีแนวคิดที่จะผลักดันด้านการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวเข้าสู่ภาคการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยต้องการปลูกฝังแนวคิดด้านการท่องเที่ยวให้นักเรียนตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรักท้องถิ่น รวมทั้งเกิดความรู้สึกรักชาติในอนาคต จึงได้จัดทำข้อเสนอ “แนวทางการผลักดันการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวและบริการเข้าสู่ภาคการศึกษา ให้เป็นวาระแห่งชาติ”

ทั้งนี้ จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีงานในภาคบริการถึง 17 ล้านคน หรือร้อยละ 40 ของกำลังแรงงานไทย ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคบริการซึ่งมีมูลค่าถึงร้อยละ 70-80 ของ GDP โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่จะมีความสำคัญในอนาคต เช่น การแพทย์ การท่องเที่ยว ดิจิทัล โลจิสติกส์ ล้วนอยู่ในภาคบริการทั้งสิ้น ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น หุ่นยนต์ อาหารสำหรับอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ฯลฯ ก็ล้วนแต่ต้องพึ่งพางานจากภาคบริการทั้งสิ้น แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้ของไทย คือ ปัญหาด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการ กล่าวคือ ขาดแคลนความเชี่ยวชาญในตำแหน่งงาน เช่น ภาษา ทักษะ มาตรฐาน Core Competency เป็นต้น คณะทำงาน D3 จึงต้องการให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสื่อในการพัฒนาเยาวชนของชาติ เพราะจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้นจากปัจจุบันซึ่งไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับที่6 ของโลก อันจะส่งผลถึง Value Chain ที่ครอบคลุมหลากหลายบริการมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความรักชาติ รักท้องถิ่น รักงานบริการ มีความเข้าใจอุตสาหกรรมดังกล่าว และจะได้มีโอกาสเรียนรู้การเป็นเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยวที่ดีอีกด้วย

แนวทางที่สำคัญ คือ จะเริ่มปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งจะมีกลไกการทำงานร่วมกันที่หลากหลาย เช่น การเริ่มต้นให้นักเรียนในระดับประถม-มัธยมศึกษาทัศนศึกษาในพื้นที่จังหวัดของตนอย่างน้อยเทอมละ 1 ครั้ง หรือเยี่ยมชมสถานบริการประเภทต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในชุมชนของตน เช่น โรงพยาบาล ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร ท่องเที่ยวชุมชน ตลาดวิถีชีวิต ฯลฯ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรืออาจจะให้ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้ประกอบการภาคบริการในพื้นที่มาเล่าประสบการณ์และความสำเร็จของตน เพื่อให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจและเข้าใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนมากขึ้น หรือนำหลักสูตรการท่องเที่ยวและบริการที่ ททท.ได้เคยทำไว้แล้ว ไปทดลองใช้ในโรงเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้นางสุกัญญา งามบรรจง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นคณะทำงานเพื่อวางแผน ประสาน และดำเนินการตามความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าอย่างช้าภายในเดือนตุลาคม 2560 จะเห็นรายละเอียดและแนวทางการทำงานของคณะทำงานที่เป็นรูปธรรม จากนั้นจะจัดให้มี Showcase เกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อผลักดันการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวและบริการเข้าสู่ภาคการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป

ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2017/mar/114.html