ชีวิตนำพา ให้มาจัดกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ ไทย-จีน

0
905

จากเด็กนักเรียนไทยคนหนึ่งที่ชอบทำกิจกรรมนานาชนิด จากอดีตเจ้าของโรงเรียนสอนดนตรีและศิลปะ ที่คาดหวังให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะให้รอบด้าน จนวันนี้นอกจากการทำงานเป็น “ผู้ชำนาญการสายงานกิจการนักศึกษา” ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์แล้ว คุณเอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ยังมีอีกตำแหน่งเป็น “ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลฝ่ายไทย” ซึ่งงานทั้งสองตำแหน่งนี้ มีโอกาสได้ทำประโยชน์ เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการจัดกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ ไทย-จีน วันนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่าน ขอให้ท่านเล่าประวัติและแง่คิดในเส้นทางการเผยแผ่ศิลปะวัฒนธรรมให้เราได้ทราบกัน

ทำไมที่ผ่านมา กิจกรรมในสถาบันการศึกษาที่ท่านทำงานอยู่จึงมี “ความเป็นจีน” มากขึ้น?

จุดตั้งต้นเลย เกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และ ทิศทางของโลกเองที่มองเห็นความสำคัญของประเทศจีนที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ มากขึ้น และ ยิ่งนโยบายของชาติเอง ก็มุ่งที่จะก้าวไปสู่  AEC-China  ประกอบกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เอง ก็มีนักศึกษาจีนอยู่เป็นจำนวนมากถึงกว่า 3,000 คน การทำความเข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิต อุปนิสัยของกันและกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราชาวไทยในฐานะเจ้าบ้าน จึงได้จัดกิจกรรมจีนต่างๆ มาเชื่อมความสัมพันธ์ โดยผลที่ได้นอกจากจะสร้างความรู้สึกเป็นมิตรให้กับเพื่อนชาวจีนแล้ว  ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมของจีนหรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

กิจกรรมที่จัดมีอะไรบ้าง และมีเป้าหมายอะไร?

นับตั้งแต่ผมเข้ามารับหน้าที่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 กิจกรรมที่ผ่านมาค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งส่วนของนักศึกษาและบุคลากร  ในส่วนของนักศึกษานั้น ด้วยการสนับสนุนของ ผศ.ดร.วันวร จะนู รองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา มิตรสหายทั้งในสายงานเดียวกัน และ เพื่อนๆในหน่วยงานอื่นๆ ทำให้สามารถร่วมกันจัดโครงการศิลปวัฒนธรรมจีน ได้ถึงสามครั้งในเวลาไม่ถึงเทอม  โดยมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น

โครงการแรก คือโครงการสี่ศิลป์ถิ่นมังกร ที่เป็นการจัดเสวนาเรื่องศิลปะวัฒนธรรมจีนเพื่อให้นักศึกษาไทยจีนที่สนใจได้ลงสมัคร โดยมีการอบรมต่อเนื่องไปสามสัปดาห์ กิจกรรมครั้งนี้มีความสำเร็จค่อนข้างดี เพราะนักศึกษาไทยจีนได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน โดยนักศึกษาไทยจีนที่มาเข้ารับการอบรมนั้น แต่ละชาติมีจำนวนถึงครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ

โครงการต่อมา จัดเมื่อช่วงตรุษจีน จากความร่วมมือของ  5 หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ได้ใช้ชื่อว่าเทศกาลวัฒนธรรมไทยจีน ภายในงานวันแรกเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยจีน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโขนสลับกับเชิดสิงโต การแสดงรำไทยสลับกับระบำจีน การแสดงวิทยายุทธ์ มวยไทยและมวยจีน เป็นต้น ต่อจากนั้นในวันที่สองเป็นการประกวดร้องเพลง ภายในงานนั้นนอกจากการแสดงแล้วทางผู้จัดยังมีการจัดบริการอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ไทยจีนให้กับผู้เข้าชมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีการสอนศิลปะพู่กันจีน ตัดกระดาษจีน แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ การสอนศิลปะการจักสานปลาตะเพียนและดอกไม้ ที่จัดโดยทีมงานของอาจารย์นวลละออ จากศูนย์แนะแนวนั้น มีนักศึกษาจีนให้ความสนใจจำนวนมากจนทางครูผู้สอนไม่มีเวลาแม้จะปลีกตัวไปรับประทานอาหารเลยทีเดียว เทศกาลที่จัดสองวันนี้ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่มากในมหาวิทยาลัย มีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ  2,000 กว่าคน

ครั้งล่าสุดในวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน ดนตรีสานสัมพันธ์สองแผ่นดิน ขึ้น โดยเชิญอาจารย์หลี่หยาง พระอาจารย์ผู้ถวายการสอนแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ มาเล่นพิณโบราณกู่เจิง ร่วมกับอาจารย์หลี่ฮุย ศิลปินซอจีนเอ้อร์หู โดยเพลงที่ทั้งสองท่านเล่นนั้นมีทั้งเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงจีนดั้งเดิม เพลงไทยพื้นเมือง เพลงไทยสากล โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษาได้มีโอกาสได้รับฟังดนตรีจากศิลปินที่มีความสามารถสูง และเพื่อให้นักศึกษาทั้งไทยและจีนได้เข้าใจว่า แม้ดนตรีก็ไม่มีพรมแดนแม้เป็นเครื่องดนตรีจีนก็ยังสามารถเล่นบทเพลงของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างไพเราะ เช่นเดียวกับคนต่างเชื้อชาติภาษา หากใช้เวลาก็สามารถทำความรู้จักสนสนิทสนมกลมเกลียวกันได้

แล้วในส่วนของกิจกรรมเพื่อบุคลากร?

ในส่วนของกิจกรรมบุคลากรนั้น เนื่องจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารทุกท่านที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร ผมเองจึงได้มีโอกาสนำคณะครูอาสาสมัครจากสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล จัดกิจกรรมต่างๆดังนี้

กิจกรรมที่น่าจะเป็นประโยชน์และส่งผลในวงกว้างต่อการสื่อสารภายในของมหาวิทยาลัย คือ การจัดโครงการเรียนรู้ภาษาจีนผ่านวัฒนธรรมจีน ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การให้บุคลากรสายสนับสนุนได้มีโอกาสใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวัน เพื่อการสื่อสารกับเพื่อนชาวจีนได้ โดยโครงการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์พิไลพรรณ นวานุช ผู้ช่วยอธิการบดีสายงานทรัพยากรบุคคล ได้จัดให้เป็นโครงการพัฒนาบุคลากร โดยมีบุคลากรลงชื่อเรียนถึง 62 คน

นอกจากนั้น ทางเรายังได้มีโอกาสร่วมมือกับทางอาจารย์ณฐกร อุไรรัตน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดการเรียนรู้ภาษาจีนผ่านการเรียนศิลปะต่างๆ เช่น การใช้การเขียนพู่กันจีนมาเป็นสื่อกลางในการเรียนภาษาจีน และการจัดWorkshopการตัดกระดาษและการเขียนพู่กันจีน ซึ่งทั้งสองงานรวมกัน มีคณาจารย์เข้าร่วมถึง 15 คน และนักศึกษาเข้าร่วมถึง 40 คน

ทำไมถึงชอบจัดกิจกรรม?

โดยส่วนตัวคิดว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือปฏิบัติ กิจกรรมจึงเป็นสื่อกลางที่ดีในการให้บุคคลได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรสักอย่าง โดยข้อดีของกิจกรรมนอกจากการได้ความรู้แล้ว เรายังได้สังคม ได้เพื่อนอีกด้วย  ซึ่งควรทำให้พอเหมาะสมดุลไปกับส่วนของวิชาความรู้

ทราบมาว่าพื้นฐานเดิมสมัยเรียนเป็นเด็กกิจกรรม การเป็นเด็กกิจกรรมช่วยอะไรได้บ้าง?

จริงๆภาพลักษณ์ของเด็กกิจกรรมจะดูเหมือนเด็กไม่ตั้งใจเรียน แต่ผมขอแก้ต่างแทนเด็กกิจกรรมว่า ในมุมที่บางท่านมองว่าเราไม่ใช่เด็กเรียนนั้น แท้ที่จริงเรากำลัง “เรียนรู้” ประสบการณ์ที่อยู่นอกตำราเรียนอยู่เช่นกัน

ประโยชน์ของการเป็นเด็กกิจกรรมนั้นช่วยให้เรามีเพื่อนฝูงมากมายในหลายสังคม รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ รู้จักการประสานประโยชน์ไปสู่เป้าหมาย

เคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง?

หากจะเริ่มต้นเลยก็คือในสมัยประถมชอบวาดรูป เคยวาดรูปจนมีหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มาสัมภาษณ์อย่างละสองรายการ นั่นก็เพราะก่อนหน้านั้นตั้งกลุ่มวาดการ์ตูนกับเพื่อนสองสามคนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เย็บการ์ตูนขายเพื่อนในห้อง จนลามไปถึงการตั้งทีมช่วยสอนวาดการ์ตูนให้กับเพื่อนๆฟรี

โตขึ้นมาอีกหน่อยสมัยมัธยมต้นก็เป็นลูกเสือกองร้อยพิเศษ หรือที่สมัยผมชอบเรียกว่า กลุ่มลูกเสือขี้เก๊ก(ฮา) คอยช่วยเหลือจัดกิจกรรมสันทนาการเวลาเข้าค่ายของลูกเสือเนตรนารีรุ่นน้องในโรงเรียน

พอมัธยมปลายก็มีโอกาสได้รับเลือกตั้งจากนักเรียนทุกระดับชั้นเป็นประธานกรรมการนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ ซึ่งตอนนั้นก็ได้จัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรม โดยได้มีโอกาสนิมนต์พระที่เป็นครูทางธรรมท่านแรกคือ หลวงพ่อถาวร วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร  มาสอนให้กับคณาจารย์และนักเรียนในโรงเรียน

จากนั้นเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เรียนด้านบริหาร ในช่วงนั้นนอกจากรับงานเป็นครูสอนเปียโนแล้ว ยังมีโอกาสก่อตั้งชมรมขับร้องประสานเสียงขึ้นภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่า ได้นำความเป็นไทย ไปเชื่อมกับความเป็นจีน คือประมาณช่วงเดือนเมษายน 2557 ผมเองก็มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นประธานจัดงานวันวัฒนธรรมไทยจีน ครั้งที่ 1  โดยรวบรวมผู้มีความรู้ความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมไทย จัดการแสดงขึ้น โดยมีคนต่างชาติเข้าชมจำนวนมาก

เป้าหมายในอนาคต?

ทุกวันนี้พยายามใช้ชีวิตในแต่ละวันให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคน ตามกำลังที่ตนเองจะทำได้ บางคนอาจสงสัยว่าทำอะไรมากมายขนาดนี้มีแรงบันดาลใจอะไร สามารถตอบได้ง่ายๆว่า บนโลกนี้ยังมีที่ที่ทุกคนจะสามารถใช้ความสามารถของตนไปสร้างสรรค์หรือเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้นได้อยู่ เพียงแต่เราหาโอกาสนั้นเจอหรือไม่ และเมื่อเจอแล้ว เคยคิดหรือไม่ว่าก่อนที่กาลเวลาจะพาโอกาสนั้นผ่านไป เราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วหรือยังในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในที่ๆเราอยู่ อย่างในอนาคตก็อยากจะทำประโยชน์ให้ผู้สูงอายุบ้าง ซึ่งสังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อยากจะเอาวิชาความรู้ด้านวิทยายุทธ์ ท่ารำมวยจีน มาประยุกต์สอนให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย