กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดึงคนเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว

0
560

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยยุทธศาสตร์ 20 ปี เพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่า 40% เล็งดึงคนเมืองมีส่วนเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปิ๊งไอเดีย ปลูกต้นไม้ 1 หมู่บ้าน 1 พันต้น

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยในเวทีเสวนา “ป่าในเมือง กับ ความยั่งยืน สู่ไทยแลนด์ 4.0” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2560 ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 102.4 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 32% ของประเทศ โดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 40% หรือ 128 ล้านไร่ ซึ่งจะเป็นไปได้ในกรณีที่คนไทยทุกคนร่วมใจกัน และป่าในเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมและเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่ ทส.กำลังผลักดัน

“อัตราส่วนมาตรฐานของพื้นที่สีเขียวทั่วโลกเมื่อเทียบกับประชากรควรมีเฉลี่ย 16 ตร.ม.ต่อคน แต่ตอนนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับมีน้อยกว่า 3 ตร.ม.ต่อคน และกำลังหดหายลงเรื่อยๆ แต่น่าแปลกใจว่าประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์กลับมีถึง 66 ตร.ม.ต่อคน เป็นที่ 1 ในเอเชียมาตลอด ทส.จึงตั้งเป้าอยากเห็นโครงการปลูกต้นไม้ 1 หมู่บ้าน 1 พันต้น ซึ่งหากรวม 6.6 หมื่นหมู่บ้านในประเทศร่วมกันปลูก เราก็จะได้พื้นที่สีเขียวมากมาย” นายวิจารย์ กล่าว

นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในอดีตอาจไม่ค่อยมีการพูดถึงป่าที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์มากนัก แต่ยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศจะต้องรวมเรื่องของป่าในเมืองเข้าไปด้วย เพราะหากอาศัยการเพิ่มเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ได้สัดส่วน 40% ทันใน 20 ปี จึงต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมปลูกเช่นกัน

“ส่วนพื้นที่ป่าในเมือง คิดว่าปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่กำลังดำเนินการ ซึ่งอาจต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อให้เห็นพลัง ให้สังคมได้เกิดความตระหนัก ส่วนพื้นที่เมืองในต่างจังหวัด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาจสามารถเพิ่มได้มากกว่า กทม.ด้วยซ้ำ แต่ทำอย่างไรจึงจะเข้ามามีส่วนช่วย ซึ่งในฐานะกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีการทำประเมิน ก็ได้มีตัวชี้วัดที่เพิ่มเรื่องพื้นที่สีเขียว เสริมให้ อปท.เข้ามามีบทบาทมากขึ้น” นายสากล กล่าว

นายสากล กล่าวอีกว่า สำหรับภาคเอกชนอาจมีส่วนเพิ่มพื้นที่สีเขียวในองค์กรของตนเอง อย่างเช่นการเป็น Green Office ทำอย่างไรให้มีพื้นที่สีเขียวเยอะที่สุดในพื้นที่ทำงาน เพราะปัจจุบันคนทำงานใช้เวลาในออฟฟิศมากกว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ทำให้การทำงานมีคุณภาพดีขึ้นด้วย และอีกส่วนคือการสร้างจิตสำนึกให้ผู้คน โดยเริ่มต้นที่เยาวชนและเด็ก

นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า กทม.ใช้งบประมาณลงทุนกับพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ยตกไร่ละ 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูง หากมีคนเข้ามาใช้พื้นที่น้อยก็จะไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นโจทย์จึงไม่ใช่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างเดียว แต่คือคนที่จะเข้ามาใช้ด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าบางสวนมีคนเข้าใช้ไม่คุ้มค่ากับงบที่เสีย และงบประมาณที่ได้มาปีละ 200 ล้านบาท ก็ไม่เพียงพอ เพราะสวนใหญ่ต้องหมดไปกับการบำรุงรักษา

นางสุวรรณา กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.มีปริมาณพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 6.18 ตร.ม.ต่อคน ไม่ใช่ 3 ตร.ม.ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าอย่างที่หลายคนเข้าใจ รวมทั้งนโยบายที่ให้มีการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยโจทย์ในปีนี้คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 950 ไร่ ซึ่งจะขยับพื้นที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6.28 ตร.ม.ต่อคน จะเห็นได้ว่าการจะเพิ่มแต่ละนิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการหาพื้นที่ใน กทม.ที่นับวันจะยิ่งหายากขึ้นทุกที เพราะการใช้พื้นที่ลงทุนทางธุรกิจคุ้มค่ากว่าการเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี

“เป้าหมายของ กทม.จะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยให้ได้ 9 ตร.ม.ต่อคน ภายใน 10 ปี หาก กทม.จะหาพื้นที่เพิ่มเองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้เรากำลังส่งเสริม และที่ผ่านมาก็ได้มีการสนับสนุนการเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าอาคารไปแล้ว 128 แห่ง รวมถึงบนแนวกำแพง 204 แห่ง ส่วนทาง กทม.จะดำเนินการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ กระจายตัวไปตามจุดต่างๆ ให้สมดุล เพราะขณะนี้เอียงมาทาง กทม.ตะวันออกมากกว่า” นางสุวรรณา กล่าว

ผศ.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาส ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมและการผังเมือง ผู้ดูแลและบริหารจัดการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี กล่าวว่า เรื่องพื้นที่สีเขียวไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะมีอีกหลายมิติที่จะต้องพูดถึง อย่างเช่นเรื่องเงื่อนไขของกฎหมายในการปลูกต้นไม้บางประเภท ซึ่งยังมีส่วนที่ติดขัดอยู่ หรือข้อจำกัดของการเข้าใช้พื้นที่สีเขียว ซึ่งพบว่าสวนสาธารณะหลายแห่งใน กทม.ก็มีข้อจำกัดเยอะ บางสวนเข้าได้ บางสวนเข้าไม่ได้ ซึ่งกติกาเหล่านี้ถือว่าประหลาดสำหรับพื้นที่สีเขียว

รศ.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัย สกว. กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานวิจัยที่ได้สอบถามคน กทม. 2,000 คน พบว่ากว่า 90% ล้วนเห็นความสำคัญของป่า แต่ส่วนใหญ่จะไม่ยอมเสียเงินเพื่อช่วยดูแลต้นไม้ เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องดูแล อย่างไรก็ตามคน กทม.กว่าครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าเป็นกลุ่มคนทำงานที่ไม่ค่อยมีฐานะ และต้องเก็บเงินไว้ดูแลครอบครัว จึงอาจต้องมามองในส่วนของคนที่มีกำลังหรือมีความพร้อม ว่าทางภาครัฐจะสามารถดึงกลับเข้ามาให้ช่วยได้อย่างไร

ภาพประกอบ : พื้นที่สีเขียวใน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์