STEM Entrepreneurship

0
466

STEM Entrepreneurship : กิจกรรมพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในศตวรรษที่21และ Thailand 4.0

ผศ.ดร.วันวร จะนู : รองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

“กิจการนักศึกษา” ในมหาวิทยาลัยเป็นสายงานที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปมีกรอบงานอยู่ 2 ด้านคือด้านพัฒนานักศึกษา (Student Development) และ ด้านดูแลสวัสดิภาพ สวัสดิการ ให้คำปรึกษานักศึกษา (Life Support) สำหรับงานด้านพัฒนานักศึกษาหมายถึงกิจกรรมพัฒนานักศึกษานอกห้องเรียนหรือกิจกรรมนอกหลักสูตร อาจมีการเชื่อมโยงกับวิชาเรียน หรือสนับสนุนวิชาเรียนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบกิจกรรมหรือโครงการของมหาวิทยาลัยที่จัดกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นหลัก โดยรูปแบบและเนื้อหากิจกรรมแต่ละมหาวิทยาลัยขึ้นอยู่กับแนวคิด นโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ต้องการ “บัณฑิตอุดมคติ” แบบไหน โดยทั่วไปนโยบายขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ทางสังคมทั้งในและนอกประเทศ นโยบายรัฐบาล และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยประกอบกัน

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่มีแนวคิดและกำหนดนโยบายกิจกรรมพัฒนานักศึกษามาตลอดเกือบ 50 ปี สำหรับยุคการศึกษาในศตวรรษที่21 และThailand 4.0 ภายใต้การนำของ   ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีนโยบายให้กิจกรรมพัฒนานักศึกษา เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่21 ตอบโจทย์ความต้องการบุคคลากรในยุคThailand 4.0 และสร้าง DNA บัณฑิตของมหาวิทยาลัยกล่าวคือ กิจกรรมนักศึกษายุคใหม่ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นกิจกรรมเชิงบูรณาการเพื่อสร้างทักษะต่างๆไปพร้อมๆกันคือ การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)  ทักษะการคิด เช่นการคิดบูรณาการ (Integrated Thinking)   คิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) คิดสร้างสรรค์ (Creativity Thinking )  การคิดเพื่อแก้ปัญหา (Problem Solving) และสร้างทักษะการทำงานร่วมกัน (Interpersonal and Collaboration Skill) หรือการทำงานเป็นทีม (Team-Work)  เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการเกิดทักษะต่างๆในข้างต้นจะต้องมีการวัดผล หรือพิสูจน์ให้ได้ว่านักศึกษามีทักษะต่างๆเกิดขึ้นจริง สิ่งหนึ่งที่จะวัดผลได้คือ ผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Innovation)ของนักศึกษา หรือการเป็น “นักสร้างสรรค์” (Makers) นั่นเอง หมายความว่า กิจกรรมพัฒนานักศึกษาจะต้องมีกระบวนการต่างๆเพื่อพัฒนาให้นักศึกษาเป็น นักสร้างสรรค์ ในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ และการเป็นนักสร้างสรรค์ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ทำให้นักศึกษาสามารถนำสิ่งที่สร้างสรรค์ไปประกอบอาชีพหรือประยุกต์ใช้ได้เลยทั้งวิธีคิด การพัฒนา ต่อยอดผลงาน เท่ากับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสามารถประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องรอให้เรียนจบ (You can succeed even before you graduate)

วิธีการหรือกระบวนการที่จะทำให้นักศึกษาพัฒนาทักษะต่างๆในข้างต้นและสามารถเกิดผลงานสร้างสรรค์ได้ ต้องเป็นกระบวนการเชิงบูรณาการ โดยมหาวิทยาลัยเลือกใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ STEM+ เป็นจุดเน้นในการจัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษา กล่าวคือ เป็นการบูรณาการการเรียนรู้จากพื้นฐาน 4 ศาสตร์คือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยสามารถบูรณาการเชื่อมต่อไปที่ศาสตร์อื่นๆนอกเหนือจากนี้ตามความจำเป็นและเพียงพอ คำถามคือทำไมต้องใช้วิธีคิดแบบSTEM+ คำตอบคือ ในการสร้างผลงานต่างๆออกมานั้นส่วนใหญ่ต้องใช้ศาสตร์พื้นฐาน4ศาสตร์นี้แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะผลงานที่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆในยุคศตวรรษที่21และThailand 4.0 และเมื่อประกอบกับศาสตร์อื่นๆที่จำเป็นและเพียงพอทำให้การสร้างสรรค์ผลงานต่างๆมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันด้วยวิธีการเรียนรู้แบบ STEM+ ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมต้องมีความสัมพันธ์กับทีมในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการร่วมมือและการทำงานเป็นทีมไปด้วยและเมื่อประกอบกับการสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ทางด้านธุรกิจอันเป็น DNA ของมหาวิทยาลัยมาตลอดเกือบ 50 ปี มหาวิทยาลัยจึงต้องการสร้าง STEM Entrepreneurship ผ่านงานด้านกิจกรรมพัฒนานักศึกษา กล่าวคือ กิจกรรมพัฒนานักศึกษายุคใหม่ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นกิจกรรมที่ต้องการพัฒนาให้นักศึกษา เป็นผู้ประกอบการที่มีความคิดบูรณาการศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวะกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยร่วมมือและทำงานเป็นทีมกับผู้อื่น เพื่อให้เกิดความคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสอดคล้องกับยุคสมัย

          ดังนั้นภาพของกิจกรรมพัฒนานักศึกษาที่เป็นจุดเน้นของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ยุคใหม่คือจะมีการจัดโครงการกิจกรรมพัฒนาทักษะด้านSTEM+ อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมการแข่งขันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีการจัดตั้งชมรมนักสร้างสรรค์ (Maker Club) มีการร่วมมือกับMakers และร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆทั้งในและนอกประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้าง Makers’ Culture ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น