ความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

0
1376

 50 หน่วยงาน สนับสนุน EECi ยกระดับอุตสาหกรรม เศรษฐกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน หนุนไทยแลนด์ 4.0 

5 เมษายน 2560 – ณ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi : Eastern Economic Corridor of Innovation) ร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 50หน่วยงาน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หนุนไทยแลนด์ 4.0 โดย คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงภาคตะวันออก ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ เป็นสักขีพยาน การลงนามความร่วมมือ โดยนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะฯตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จากนั้นได้พบปะหารือกับนักธุรกิจข้ามชาติรายใหญ่กว่า 20ราย ก่อนจะเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ส่วนราชการและเอกชนในพื้นที่ร่วมประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะใน2โครงการหลัก

คือ 1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2. การพัฒนารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการพัฒนา EEC ให้เป็นรูปธรรม โดยเน้นไปที่เรื่อง การเมืองการบินภาคตะวันออก บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามอู่ตะเภา เป็นเขตส่งเสริมระเบียง เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ในการลงนามความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันทุกหน่วยงานเป็นการยกระดับการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ที่มามีบทบาทในทุกด้าน ประกอบด้วย 3ส่วน คือ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ และศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อความพร้อมนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีความมั่นคง ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

โดยมติจากที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดสร้างเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) บนพื้นที่ 2 แห่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำเสนอ

1.วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เนื้อที่ 3,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ปตท. เพื่อให้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 ส่วน คือ แอริโพลิส (ARIPOLIS) ศูนย์กลางระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ และ ไบโอโพลิส (BIOPOLIS) ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ

2.พื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือจิสด้า ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ 120 ไร่ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ  หรือ Space Krenovapolis: ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากทุกภาคส่วน เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สำหรับพันธมิตรที่จะร่วมมือพัฒนา EECi ในขณะนี้ประกอบด้วย ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 50 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาคเอกชน  20 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทวา จำกัด (มหาชน),บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด, บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน),ประชารัฐ กลุ่ม D5 การพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต, บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน), บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด,บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ Corbion Purac (Thailand) Ltd.

ทางด้านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเชิงกลยุทธ์หลักได้กล่าวถึงการร่วมมือกับ สวทช. ในการเซ็น MOU ร่วมพัฒนาเขตนวัตกรรมฯ “EECi” ว่า ความร่วมมือนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศูนย์รวม R&D เพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อันจะเป็นการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi และ ช่วยเปิดพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งรวมศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม อันจะนำไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรไทย

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ระยอง ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต(New Engine of Growth) ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (คนพ.) เห็นชอบในหลักการ “กรอบแนวคิดการยกระดับและพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation: EECi) ซึ่งจะเป็นการกำหนด แนวทางการพัฒนา ที่นำมาสู่ความร่วมมือในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ (5 เม.ย.) ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้ดำเนินการหลักในการยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในครั้งนี้


สำหรับ ขอบเขตความร่วมมือการดำเนินงานในครั้งนี้ จะสนับสนุน และพัฒนาร่วมกันใน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.การสนับสนุนข้อมูลและองค์ความร่วมรู้ บุคลากรและทรัพยากรอื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อการพัฒนานโยบายและแผนขับเคลื่อนการพัฒนา EECi เป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
2.การสนับสนุน และให้บริการตามภารกิจและบทบาทของหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่
3.การสนับสนุนด้านข้อมูล และองค์ความรู้ ตลอดจนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรอื่นๆที่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน


การจัดตั้ง EECi นี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา(R&D)ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม และให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ (New Industry Development) และ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย ซึ่งจะรวมไปถึงการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0” นายวีรพงศ์กล่าว

**********************************************************

EECi (Eastern Economic Corridor of innovation : EECi) เมืองนวัตกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพื่อสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

EECi มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานหลักดังนี้

(1) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะของไทย เพื่อถ่ายทอดให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบอัตโนมัติในราคาที่เหมาะสม และสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรรมในพื้นที่ ตลอดจนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมอากาศยาน

(2) เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมของไทยกับระบบการค้าของโลกผ่านการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะตลอดห่วงโซ่อุปทาน (End-to-End Intelligent Supply Chain) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและส่งเสริมให้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ

(3) ส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ทางด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมเพื่อเป็นพื้นฐานรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก และอุตสาหกรรมทั่วประเทศในอนาคต

(4) เชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศกับต่างประเทศ เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมของประเทศรองรับความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในลักษณะบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ โดยพิจารณาในมิติของการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ การวิจัยพัฒนานวัตกรรมขั้นสูง และความชัดเจนต่อเนื่องของนโยบายและมาตรการส่งเสริม (Triple Helix) และขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชน (Quadruple Helix)

(5) ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศนวัตกรรม (Innovation Thailand) ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ห้องทดลองภาคสนาม (Living Lab) ศูนย์ทดสอบชั้นนำ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

จุดเด่นของอีอีซีไอคือ การสร้างพื้นที่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ หรือ เป็นเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ที่เป็นต้นแบบของการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในลักษณะองค์รวม ที่เน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการรวมศูนย์ห้องปฏิบัติการและสนามทดสอบนวัตกรรม (Fabrication Laboratory & Test-bed Sandbox) ศูนย์รับรองมาตรฐานนวัตกรรมทางด้านระบบและอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยจัดตั้งเป็นเขตทดสอบนวัตกรรมอัจฉริยะของประเทศ ที่ผ่อนปรนกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนการเป็นชุมชนการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีระดับสูงของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงวิทย์ฯ ประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำรายละเอียดแนวทางและวิธีการดำเนินงานของอีอีซีไอ เพื่อนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไปครับ ก้าวย่างนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศไทยสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้นเพิ่มมากไปจากเดิม และเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ “ประเทศไทย 4.0” ตามที่รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ไว้