ไทย-จีน จับมือกันพัฒนาวงการฟิสิกส์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์

0
615

7 เมษายน 2560 – สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝ่ายไทย ประกอบด้วยศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และฝ่ายจีน ศาสตราจารย์ ดร.หวัง อี้ฟาง ผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง

ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพงานวิจัยด้านฟิสิกส์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัย อาทิ การวิจัยแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาพลังงานสูง การระเบิดรังสีแกมมา ซูเปอร์โนวา พัลซาร์ แหล่งกำเนิดรังสีคอสมิกอื่นๆ สสารมืด และเอกภพวิทยา ฯลฯ พัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย อาทิ ส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาและนักวิจัยได้เข้าร่วมฝึกอบรม สนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองทางฟิสิกส์พลังงานสูง

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ได้แก่ การเข้าร่วมโครงการทดลองด้านฟิสิกส์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค ที่มีชื่อว่า Jiangmen Underground Neutrino Observatory (JUNO-จูโน) ห้องปฏิบัติการของโครงการนี้จะเป็นห้องปฏิบัติการที่อยู่ใต้ดินลึกประมาณ 700 เมตร ตั้งอยู่ ณ เมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โครงการ JUNO ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของหลายประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 71 หน่วยงาน จาก 16 ประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจะมีการประชุมหารือร่วมกันทุก 6 เดือน โครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนเมื่อปี ค.ศ. 2013 ด้วยงบประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี ค.ศ. 2021

 

สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะร่วมกันจัดตั้งภาคีไทย-จูโน เพื่อร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและดาราศาสตร์อนุภาค เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักศึกษา และวิศวกรไทยเข้าร่วมโครงการทดลองระดับนานาชาติ มีโอกาสฝึกทำงานและเรียนรู้ถึงการบริหารจัดการโครงการใหญ่ระดับโลก

ภาคีไทย-จูโน จะร่วมกันวิจัย ออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ชิ้นสำคัญของการทดลอง คือ อุปกรณ์ชดเชยสนามแม่เหล็กโลก (Earth Magnetic Field Compensation Coil) ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของการทดลองและความสำเร็จของโครงการจูโน อุปกรณ์ที่สร้างแล้วเสร็จจะเป็นการปักธงไทยที่เด่นชัดของนักวิทยาศาสตร์ไทยในเวทีวิทยาศาสตร์โลก นอกจากนั้นข้อมูลของการทดลองอนุภาคนิวตริโนจะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง และฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค ช่วยยกระดับความสามารถในการวิจัยของนักดาราศาสตร์ อาจารย์ และนักศึกษาไทย ให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติ
สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (Institute of High Energy Physics: IHEP) เป็นศูนย์รวมห้องปฏิบัติการด้านฟิสิกส์พลังงานสูงที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเป้าหมายหลักในการวิจัยเพื่อศึกษากลไกและฟิสิกส์ของอนุภาคพื้นฐานจนถึงกำเนิดจักรวาล และโครงสร้างขนาดใหญ่ของจักรวาล มีพันธกิจหลักในการวิจัยและพัฒนา นำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับมวลมนุษยชาติ มีการทำวิจัยทั้งด้านทฤษฎี การทดลอง และการพัฒนาเทคโนโลยี ในสาขาฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง และดาราศาสตร์อนุภาค เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค เทคนิคการวิเคราะห์ด้านนิวเคลียร์ และการให้บริการลำแสง (Beam Line) สำหรับงานวิจัยในสาขาอื่น

อ้างอิง https://www.facebook.com/NARITpage/