ประชุมทางวิชาการด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี

0
150

รมว. วิทย์ฯ ร่วมเปิดการประชุมทางวิชาการด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี Women’s Entrepreneurship Conference Bangkok 2017

 

วันที่ 3 เมษายน 2560 เวลา 09.00 น. ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี Women’s Entrepreneurship Conference Bangkok 2017 ที่ห้องประชุมชั้น 16 อาคาร 9 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 เมษายน 2560 โดยคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) ร่วมกับ Entrepreneurship Centre, University of Cambridge Judge Business School ประเทศอังกฤษ อันเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการพัฒนาเครือข่ายการวิจัยเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี (Women’s Entrepreneurship Research Links)  ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนนิวตันเพื่อความเป็นหุ้นส่วนด้านการวิจัยและนวัตกรรมไทย-สหราชอาณาจักร (Newton UK-Thailand Research and Innovation Partnership Fund)  ซึ่งบริหารโดย บริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยงานสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการหญิงผ่านงานวิจัยระดับนานาชาติ และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้นำแนวหน้าของประเทศจากภาครัฐและภาคเอกชน

ดร.อรรชกา ได้กล่าวถึงความสำคัญของผู้ประกอบการสตรีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 98 ของจำนวนวิสาหกิจในประเทศไทย และมีส่วนในการจ้างแรงงานกว่าร้อยละ 80  ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งปฏิรูปและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้กลายเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและการสร้างคุณค่าโดยใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ออกมาตรการและแผนงานสนับสนุนนโยบายดังกล่าว อาทิ มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 300% ของค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา คูปองนวัตกรรมโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ที่เป็นวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ (startup) และมีแผนการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพื้นที่ในรูปแบบ “innovation district” ที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้ประกอบการในหลายพื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น

สำหรับผู้ประกอบการสตรีนั้น ดร.อรรชกากล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนแรงงานสตรีและผู้ประกอบการสตรีสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนยังต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการสตรี ในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การมีพี่เลี้ยงทางธุรกิจให้คำปรึกษา และการศึกษาสำหรับผู้ประกอบการสตรีที่ด้อยโอกาส การประชุม WECB 2017 จึงเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีระหว่างนักวิชาการและนักปฏิบัติจากนานาประเทศ และเป็นการสร้างความตระหนักในสังคมต่อศักยภาพของผู้ประกอบการสตรีในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

อนึ่ง WECB จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2015 ที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และประสบการณ์ทางสังคม โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับภูมิภาค ถึงระดับสากลมีโอกาสได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางด้านงานวิจัย จนกลายเป็นครั้งแรกของการเริ่มต้นเครือข่ายผู้ประกอบการหญิงระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ

อ้างอิง http://www.sti.or.th/news-detail.php?news_id=165