ลดพื้นที่สูบบุหรี่ต้นแบบ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

0
126

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับสสส. ลุยลดพื้นที่สูบบุหรี่ต้นแบบ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งเป้า ครึ่งปี 27อปท. สร้างบ้านไร้ควัน 990 ครัวเรือน ศาสนสถานปลอดบุหรี่ 66 แห่ง คลีนิคช่วยเลิกบุหรี่ 23  แห่ง

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้เป็นประธานกล่าวปฏิญญารณรงค์   “เลิกสูบก็เจอสุข:ปฏิบัติการ ลดพื้นที่สูบ เพิ่มพื้นที่สุข” โดยเนื้อหาระบุว่า จากสถานการณ์การบริโภคยาสูบซึ่งเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพของคนไทย โดยมีข้อมูลในระดับชาติว่ามีผู้สูบบุหรี่สูงถึง  10.9 ล้านคน และเมื่อพิจารณาถึงข้อมูลในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พบว่า มีผู้สูบบุหรี่สูงถึง 5.2 แสนคน จากจำนวนประชากร  7.5 ล้านคน ทั้งนี้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี  ยะลาและ นราธิวาส จำนวน  27อปท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงร่วมกันรณรงค์และขับเคลื่อน “เลิกสูบก็เจอสุข : ปฏิบัติการ ลดพื้นที่สูบ เพิ่มพื้นที่สุข” ด้วยการดำเนินการ ดังนี้

1.สร้างให้เกิด “บ้านไร้ควัน”จำนวน 990 ครัวเรือน เพื่อเป็นต้นแบบ ลด ละ เลิก คนสูบ และป้องกัน คนในครอบครัวจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และมือสาม 2. สร้างให้เกิด “ศาสนสถานปลอดบุหรี่ต้นแบบ” จำนวน 66 แห่ง โดยการบังคับใช้กฏหมายในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยการใช้กลไลทางศาสนา และทางชุมชนในการกำหนดมาตรการร่วมเพื่อให้เกิดการควบคุมพื้นที่อย่างจริงจัง และ 3. สร้าง“คลินิกช่วยเลิกบุหรี่ต้นแบบ โดยชุมชน” จำนวน 23  แห่ง ที่ดำเนินการโดยชุมชน เพื่อเป็นกลไกในการหนุนเสริมให้ผู้สูบบุหรี่สามารถลด ละ เลิกบุหรี่

“ในการนี้เราจะร่วมกันขับเคลื่อนปฏิบัติการดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในเวลา 6 เดือน เพื่อให้มีบทเรียนและต้นแบบการดำเนินงาน ในการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยชุมชน ที่เป็นการลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมทางสุขภาพ  นำสู่สุขภาวะของชุมชนท้องถิ่น นายสมพรกล่าว

ด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนัก 3 สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า จากข้อมูลในพื้นที่ 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้สูบบุหรี่มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึง 25 %  ทั้งที่บุหรี่ไม่มีประโยชน์มีแต่พิษภัยทำให้อายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าปกติ นำไปสู่  โรคเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง โรคทางเดินหายใจ  การถือโอกาสนี้มารณรงค์ลดพื้นที่สูบบุหรี่ก็ไม่ได้สุดโต่งที่จะให้ยกเลิกทั้งหมด แต่ต้องการจำกัดให้พื้นที่อยู่ในวงจำกัด ซึ่งในวันที่ 17 พ.ค.นี้ จะเริ่มคิกออฟ การรณรงค์  “เลิกสูบก็เจอสุข : ปฏิบัติการ ลดพื้นที่สูบ เพิ่มพื้นที่สุข” ที่ ตำบล มะรือโบตก จ.นราธิวาส และจะถือโอกาสนี้เป็นการรณรงค์พร้อมกันทุกพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะจะเป็นช่วงเวลาใกล้กับการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของพี่น้องชาวมุสลิมที่จะได้ถือโอกาสนี้เลิกบุหรี่ไปด้วย

ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า การณรงค์ลดบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ในส่วนของการกำหนดประเด็นเรื่องบ้านไร้ควัน กลยุทธ์ที่จะทำให้สำเร็จ ต้องอาศัยมาตรการกดดันจากบุคคลในครอบครัวที่จะมีพลังเป็นอย่างมาก  ส่วนมัสยิดหรือศาสนสถานผู้ปลอดบุหรี่นั้น ตามหลักคำสอนระบุว่า บุหรี่ เป็นสิ่งที่ต้องห้ามทางศาสนา ดังนั้น ผู้นำทางศาสนามีส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดความสำเร็จได้