อนาคตของวิทยายุทธจีน

0
658

อนาคตของวิทยายุทธจีน ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีน

ในแวดวงศิลปะการต่อสู้ของจีนในประเทศไทย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเพจ Thai Kungfu Club ซึ่งเป็นเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยายุทธของจีนอย่างเป็นกลาง เน้นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิทยายุทธจีนทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างเปิดกว้าง วันนี้เราขอนำท่านมารู้จักกับแอดมินของเพจนี้ คือ อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้สืบทอดวิชามวยปาจี๋เฉวียน (มวยแปดสุดยอด)สายหลี่ซูเหวิน และปากว้าจ่าง(ฝ่ามือแปดรูปลักษณ์)สายกงเป่าเถียน อย่างเป็นทางการในประเทศไทย

โดยนอกจากอาจารย์จะมีงานอดิเรกเป็นการสอนวิทยายุทธจีนแล้ว อาจารย์ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายไทย)ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีหน้าที่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมจีน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับคนไทยและคนจีนให้สมกับคำกล่าวที่ว่า จีนไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน (จงไท่อี้เจียชิน)

อยากให้อาจารย์เล่าประวัติด้านวิทยายุทธจีนให้เราฟังสักเล็กน้อย?

ก็ความสนใจด้านวิทยายุทธจีนนั้น ก็คงเหมือนกับวัยรุ่นทั่วไปที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายบ้าง ภาพยนตร์ต่างๆบ้าง ตอนเด็กๆก็เรียนเทควันโดเหมือนกับเด็กทั่วไป

โตขึ้นมาจากนั้นเล็กน้อยก็อ่านหนังสือวิทยายุทธจีนที่มีผู้แปลมาจากหนังสือจีนบ้างฝรั่งบ้าง ก็รู้สึกสนใจในปรัชญาแนวคิดที่ดูลึกซึ้ง เมื่อมีโอกาสจึงได้ไปขอเรียนวิชากับครูมวยหลายท่านที่เป็นลูกหลานคนจีนในไทยบ้าง ครูมวยชาวจีนที่แวะเวียนมาสอนเป็นครั้งคราวบ้าง

เรียนวิชาอะไรบ้างบอกได้ไหมครับ

ได้ครับ เรียนตั้งแต่มวยหย่งชุน มวยไท่จี๋(ไท้เก็ก)ตระกูลหยางสายวัดเกาะเยาวราช มวยไท่จี๋ตระกูลอู่โดยอาจารย์จากเซี่ยงไฮ้

แล้วหลังจากนั้นทำไมถึงได้มีโอกาสเข้ามาทำเพจThai Kungfu Clubและทำไมถึงได้มีโอกาสเรียนวิชาที่เป็นวิชาที่หายากในประเทศไทยจนสามารถนำกลับมาสอนที่ประเทศไทยได้

เนื่องจากในช่วงสมัยที่ผมทำโรงเรียนดนตรีมา 7 ปีนั้น ผมพบว่า ศิลปะหลายแขนงมีความเชื่อมโยงถึงกันหมด วิทยายุทธจีนก็จัดเป็นศิลปะอย่างหนึ่งและเป็นศิลปะที่ถ้าฝึกอย่างถูกต้องจะช่วยพัฒนาร่างกายและจิตใจให้มีความสมดุลย์ จึงได้เชิญเพื่อน และครูสอนวิทยายุทธจีน แวะเวียนมาสอนที่โรงเรียน จากนั้นเมื่อมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศระยะสั้นๆ ได้มีโอกาสพบครูสอนวิทยายุทธจีนท่านหนึ่งที่ท่านนอกจากจะเป็นประธานบริษัทที่ทำการค้าในจีนและญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นประธานสถาบันยุทธที่มีสาขามากมายทั่วโลกอีกด้วย และเพราะเหตุว่าอาจารย์ท่านนั้นเล็งเห็นในวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการจรรโลงศิลปะนี้ให้คงอยู่ต่อไป จึงได้สอนหลักการสำคัญๆของมวยจีนทางเหนือโบราณมาหลายชนิดมาให้ พร้อมกับให้แบรนด์ของสำนักมาใช้เป็นตัวช่วยในการเผยแผ่วิชาได้ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในการไปพบครูมวยต่างๆทั้งในจีนและที่อื่นๆอีกด้วย

จึงได้มีโอกาสพบปะสนทนากับครูมวยหลายท่าน

ใช่ครับ ในแวดวงวิทยายุทธเรานั้นมีคำกล่าวว่า “ผู้ฝึกวิทยายุทธนั้นเสมือนหนึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน” บางครั้งการที่เรามีโอกาสพบเจอครูสอนวิทยายุทธ แม้จะรู้จักกันเป็นครั้งแรก แต่หากมีการแสดงวิชาแลกเปลี่ยนกันบ้าง เช่น การรำ การแสดงทักษะบางอย่างให้ดู ก็อาจเป็นสิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์อันดีได้ เช่น มีครั้งหนึ่งผมไปเยี่ยมญาติที่ เจียหยาง(หรือที่ภาษาแต้จิ๋วจะเรียกว่า เก็กเอี๊ย) หลานสาวที่จีนได้พาผมไปเดินเที่ยวที่ริมแม่น้ำ เห็นครูมวยท่านหนึ่งสอนมวยจีนอยู่ ซึ่งเมื่อผมเห็นท่ารำแล้วก็แน่ใจว่าเป็นสายเดียวกับที่ผมเคยเรียน จึงเดินไปทักทายกับครูผู้สอน คุยไปคุยมานับรุ่นได้เป็นศิษย์พี่ศิษย์น้องกัน จึงได้มีการสอนวิชาในสิ่งที่ขาดเหลือไปให้กลับมาด้วย และในไม่กี่สัปดาห์ต่อมาผมได้เดินทางไปอีกเมืองซึ่งครูมวยคนจีนท่านนี้ก็นัดไปพบศิษย์พี่น้องของเขาที่นั่น เขาจึงได้เชิญผมไปพบกับศิษย์พี่น้องเขาและเลี้ยงข้าวผมเป็นอย่างดี

ฟังดูเหมือนอาจารย์จะรู้สึกว่าวิทยายุทธจีนเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของอาจารย์ อาจารย์มีแรงบันดาลใจอะไรมากกว่าความประทับใจวัยเด็ก


แน่นอนว่าความประทับใจวัยเด็กเป็นจุดเริ่มต้น แต่พอได้มีโอกาสฝึกฝนจนหลงใหลในศิลปะชนิดนี้ ก็เหมือนกับเรามีความสุขที่ได้อยู่กับสิ่งที่สวยงาม อย่างสาวๆหน้าตาดีๆนิสัยดีๆผู้ชายทั่วไปก็อยากอยู่ใกล้ใช่ไหม วิทยายุทธจีนนั้นดีต่อร่างกายและต่อจิตใจของเรา เราก็อยากจะให้มันอยู่กับเรานานๆเราจึงฝึกฝนและเรียนรู้อย่างไม่หยุดหย่อน จนทุกวันนี้ความอยากเป็นจอมยุทธอะไรนี่หมดไปเหลือเพียงแต่ความรู้สึกเป็นศิลปินที่หลงใหลในศิลปะมากกว่า

อาจารย์กล่าวขนาดนี้ วิทยายุทธจีนมีประโยชน์มากมายขนาดนั้นเชียวหรือ อยากให้อธิบายในมุมมองอาจารย์ครับ

ใช่ครับ วิทยายุทธจีนนั้นมีประโยชน์ในหลากหลายแง่มุม ในเชิงสุขภาพไม่ต้องพูดถึง มีงานวิจัยของชาวตะวันตกไม่น้อยที่กล่าวถึงเรื่องนี้ในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ยังมีสิ่งที่เหนือจากนั้นคือ

หนึ่ง ชุดรำของมวยจีนมีความเป็นศิลปะที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว อย่างยอดฝีมือในมวยอ่อนก็ตาม มวยแข็งก็ตาม มวยเหนือก็ตาม มวยใต้ก็ตาม หากรำมาจนเข้าถึงแก่นแท้ล้วล้วนมีทักษะของชุดมวยที่น่าหลงใหลทั้งสิ้น เช่น ปากั้วจ่างมีความอ่อนช้อยลื่นไหลเสมือนมังกร , พีกว้าจ่างมีความอ่อนหยุ่นสลับเฉียบคมเสมือนแส้ , มวยใต้เช่นมวยหงหรือไช่หลี่ฝอก็จะมีความเข้มแข็งดุดันเฉียบคม เป็นต้น
สอง มวยจีนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนั้น มีหลักการของวิชาปรัชญาต่างๆของจีนผสมอยู่ในนั้น เช่น หลักหยินหยาง , หลักห้าธาตุ , หลักแพทย์จีน ที่ช่วยในเรื่องแนวคิดการรักษาสมดุลย์ของทั้งร่างกายและจิตใจ

แล้วอย่างที่ปัจจุบันมีคนเชื่อถือมวยจีนน้อยลงจากคลิปการต่อสู้กับวิชาตะวันตกวิชาหนึ่ง อันนั้นอาจารย์เห็นว่าอย่างไร

เรื่องนั้นคุยได้อีกหนึ่งประเด็น ไว้มีโอกาสผมจะเขียนบทความเผยแพร่ถึงเชิงเทคนิคให้ครับ แต่โดยส่วนตัวนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมที่จะนำสิ่งของสิ่งหนึ่งไปเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งโดยแต่ละสิ่งมีที่มาไม่เหมือนกัน เรื่องนี้อยากให้ผู้ฝึกวิทยายุทธทุกสำนักทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันว่า  “ไม่มีอะไรที่ดีที่สุดจนไม่มีที่ติ หรือเลวจนไม่มีดี มีแต่สิ่งที่เหมาะสมกับกาล เวลา บุคคล สถานที่ ที่ต่างกันออกไป”

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ หากเข้าใจได้ถูกต้องตามจริงแล้ว ไม่ว่าจะมีใครมาถล่มสำนักมวยจีนไหนอีก เสน่ห์ของมวยจีนก็จะยังมีอยู่อย่างเดิมในใจของผู้ฝึกฝนอยู่ต่อไป แต่หากหลงไปติดกับตำนานปรมาจารย์บ้าง กำลังภายในขั้นสูงส่งที่ต้องฝึกไปสิบปีถึงจะสำเร็จบ้าง หรือข้ออ้างที่บอกว่า ไม่อยากลองมวยกับผู้อื่นเพราะกลัวเขาบาดเจ็บบ้าง อันนี้ควรตัดทิ้งและทำการทดลองอย่างวิทยาศาสตร์โดยการไปลงนวมลองกันฉันมิตรเพื่อนๆบ้างก็จะดีไม่น้อย

คาดหวังจะเห็นอะไรจากวงการวิทยายุทธจีน และคิดว่าจะทำอะไรให้วงการวิทยายุทธจีนบ้าง

คาดหวังว่าผู้ถ่ายทอดวิชาต่างๆเหล่านี้พึงทำความเข้าใจในความเป็นศิลปะและถ่ายทอดศิลปะนี้ออกไปให้คนเห็นความลึกซึ้งของวัฒนธรรมจีน
ส่วนสิ่งที่คิดจะทำให้วงการวิทยายุทธจีนนี้ คือ การรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆของวิทยายุทธจีนเพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นหลักการรักษาร่างกายและสุขภาพเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสได้นำไปใช้ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างดี

คิดชื่อไว้คร่าวๆว่า จงอี้เฉวียน หรือมวยภักดี ซึ่งชื่อนี้มีคนใช้ในหลายแห่งและมีท่ารำที่ต่างอันออกไป สันนิษฐานว่าเป็นแนวคิดเดียวกันกับผมนั่นเอง กล่าวคือ เพื่อนำหลักวิชาสำคัญๆของมวยจีนชนิดต่างๆที่รู้จักมาร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียว
แต่ในส่วนของผมมีแนวคิดที่ต้องการตอบสนองนโยบาย One Belt One Roadของจีนด้วย นั่นคือ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค และเพื่อให้คนเห็นว่าวิชาต่างๆเหล่านี้ยังคงไม่ตายไปไหน ยังมีคนสอนอยู่ที่ไหนบ้างและมีประโยชน์อะไรบ้างจากการฝึกนั้นๆ หวังว่าจะสามารถทำสำเร็จได้ในระยะเวลาไม่นาน