ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจ หอการค้าไทย-จีน

0
258

หอการค้าไทย-จีนจัดทำดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจ
หอการค้าไทย-จีน ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ในการจัดทำดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจหอการค้าไทย-จีน อย่างเป็นทางการ เพื่อสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย – จีน 230 แห่ง และสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน จำนวน 36 สมาพันธ์ ที่มีสมาชิกรวมประมาณ 9,000 แห่ง  โดยบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด จัดเก็บข้อมูลนักธุรกิจไทย – จีน จำนวน 550 คน เพื่อสะท้อนมุมมองเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นจริงรายไตรมาส ซึ่งคาดว่าจะแถลงดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจหอการค้าไทย-จีน ครั้งแรกในปลายไตรมาส 3 ปีนี้ หรือประมาณเดือนกันยายน โดยจัดทำเป็น 3 ภาษา คือ ไทย จีน และอังกฤษ และ ประกาศพร้อมจะเผยแพร่มุมมองทัศนคติสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้เป็นครั้งแรก ในช่วงไตรมาสที่3ของปีนี้

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ประธานหอการค้าไทยจีน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดทำดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจหอการค้าไทย-จีน (ดัชนีเจ้าสัว) ว่า โครงการจัดทำดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจหอการค้าไทย-จีน มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนถึงสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง จากทัศนะของผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย-จีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสามารถและทักษะในการสร้างและดำเนินธุรกิจสูง สะท้อนจากกิจการขนาดใหญ่หลายกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประสบความสำเร็จกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติ ทักษะและความรู้ทางธุรกิจซึ่งนำความสำเร็จมาให้แก่สมาชิกรุ่นแล้วรุ่นเล่า วิสัยทัศน์ที่มาจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดเวลาของสมาชิกและภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งในสังคมและวัฒนธรรมทางธุรกิจในหมู่นักธุรกิจเชื้อสายจีน รวมไปจนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างหอการค้าไทย-จีน และองค์กรในระดับนานาชาติ ถือเป็นองค์ความรู้สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก ด้วยคุณลักษณะพิเศษของสมาชิกและสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน

การดำเนินงานภายในโครงการดังกล่าวเป็นการจัดทำดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ลงลึกในด้านธุรกิจเป็นหลัก มีกระบวนตามมาตรฐานวิชาการในระดับสากล และโปร่งใสสามารถเปิดเผยกระบวนการทำงานการแก่สาธารณะในอนาคตได้ รวมทั้งสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพจากสมาชิกหอการค้าไทย-จีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการผลิตเนื้อหาติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยตามปกติ และการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในแต่ละไตรมาสเป็นกรณีเฉพาะ ทำให้เนื้อหาที่คณะทำงานจัดทำขึ้นมีความแตกต่างจากการจัดทำขององค์กรอื่น

โดยกระบวนการจัดทำดัชนีดังกล่าวเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างหอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการเก็บข้อมูลโดยบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (Research Centre for Social and Business Development Co., Ltd.) หรือ SAB เพื่อให้ดัชนีถูกจัดทำขึ้นตามมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล โดยการสำรวจความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของสมาชิกและสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการไทยเชื้อสายจีน

การดำเนินงานภายในโครงการประกอบด้วยการสร้างระบบการจัดทำดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ และการจัดทำดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาส (จำนวนสามไตรมาส) เริ่มขึ้นจากการจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการที่ถูกสำรวจโดยละเอียดผ่านองค์ประกอบประเภทกิจการ อายุกิจการ สินค้าสามประเภทที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด 3 ประเภท การจำหน่ายสินค้าในประเทศและ/หรือต่างประเทศ ตลาดสินค้าหลัก 3 แห่ง พร้อมสัดส่วนมูลค่าการค้า และขนาดธุรกิจ การสำรวจทัศนะทางเศรษฐกิจในหลายมิติประกอบด้วย ทัศนะต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม ทัศนะต่อภาวะอุตสาหกรรม และทัศนะต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีต่อเศรษฐกิจของไทย

“ดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจหอการค้าไทย-จีนที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่นี้แตกต่างจากดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจขององค์กรอื่น สะท้อนข้อมูลจากบริษัทชั้นนำระดับประเทศ” นายจิตติ กล่าว