รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ประโยชน์ร่วม ที่ต้องเร่งผลักดัน

0
410

บ่ายวานนี้ (6 ก.ค. 2560) ที่ห้องสัจจา ชั้น 1 อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนา “รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน : ประโยชน์ร่วม ที่ต้องเร่งผลักดัน” โดยมี ดร.พิษณุ เหรียญมหาสาร ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และอดีตที่ปรึกษาการพาณิชย์ประจำกรุงปักกิ่ง นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในวงเสวนา

นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าวรายงาน
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเปิดงาน

นายประภัสร์ กล่าวว่า ตนมองว่าในแง่ของการเชื่อมต่อกับประเทศอาเซียนและประเทศจีน รวมทั้งถ้าจะให้ได้ประโยชน์สูงสุด ไทยควรเลือกรถไฟจากจีน เพราะทุกวันนี้เรื่องคุณภาพและความปลอดภัยจีนไม่ได้น้อยหน้าชาติใด จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำรถไฟความเร็วสูงระยะทางกว่าหมื่นกิโลเมตรมากที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศอื่นมีระยะทางไม่มาก จึงมีความเชี่ยวชาญในการเดินรถ ดังนั้นการพัฒนาโครงการในไทยเชื่อมต่อเส้นทางกับจีนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตนมองว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะในอดีตโครงการรถไฟใต้ดินของไทยก็ไม่เคยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเช่นกัน แต่สามารถเรียนรู้กันได้

ทั้งนี้ อดีตผู้ว่า รฟท. ได้ฝากถึงรัฐบาลว่า ควรเปิดเผยข้อมูลจริงๆให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าใจ อยากให้รัฐบาลบอกประชาชนว่าจะทำอะไร เพราะเชื่อว่าประชาชนจะสนับสนุน ต้องชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อสถาบันการศึกษาทั้งหมดจะได้พัฒนาหลักสูตรได้ถูกต้องรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุง การดูแลรักษา รวมถึงการพัฒนาเมืองต่างๆ และสนับสนุนให้ส่งบุคลากรไปเรียนรู้เทคโนโลยีจากจีนตั้งแต่วันนี้ ทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วย เพื่อนำสิ่งที่ได้นำมาต่อยอดในไทย

สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องรถไฟความเร็วสูงจีน ดร.พิษณุ ให้คำตอบว่า ตั้งแต่จีนเริ่มมีเงินทุนซื้อสินค้า ซื้อเทคโนโลยีระดับโลกเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของหลายประเทศ จีนก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองโดยทุกวันนี้ถือว่ารุดหน้าไปมาก เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง สำหรับของไทยนั้นหากเปรียบเทียบกับจีนยังถือว่าล้าหลังมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจีนทิ้งห่างไทยแบบไม่เห็นฝุ่น ฉะนั้นเมื่อขาดความพร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงต้องพึ่งพาจีนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี อยากให้ปรับมุมมองที่มีต่อจีนเสียใหม่ กับข้อสงสัยที่ว่า ทำไมรัฐบาลต้องเลือกจีน ตนมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเลย แต่ฝากเรื่องทุกครั้งที่มีการเจรจาเรื่องรถไฟ ตัวแทนที่ไปคุยควรมีหลักรู้เขารู้เรา

ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ มองว่า ขณะนี้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากจีนมีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งตนมองว่าเราอาจไม่ต้องใช้สิ่งที่ดีที่สุด แต่เราใช้สิ่งที่เหมาะกับประเทศเรามากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีของจีนเหมาะสมที่สุด บางส่วนอาจต้องมีการปรับในเรื่องของความชื้นในอากาศ สภาพอากาศของประเทศ เรื่องเชิงเทคนิคต่างๆ แต่ในแง่ของความเชี่ยวชาญ ของจีนถืออยู่ในระดับแนวหน้าของโลกแล้ว ที่สำคัญคุณภาพงานของจีนได้ตามที่ตกลงกันไว้ในราคาต้นทุนที่เหมาะสม ถือว่าคุ้มค่าอย่างแน่นอน

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า ไม่ว่าจะซื้อรถไฟความเร็วสูงจากที่ไหน จะจากจีน เยอรมัน ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่กังวลทั้งนั้น เพราะไทยยังไม่มีความพร้อมในการเตรียมรับมือกับการพัฒนารูปแบบดังกล่าว ฉะนั้นการฝึกฝนให้เกิดความพร้อมจึงมีความสำคัญ และหากไทยวางแผนอย่างชัดเจน มีการเตรียมตัวดีกว่านี้ เชื่อว่าจะดูดซับเทคโนโลยีจากจีนได้