แพทย์แนะเก็บดีเอ็นเอผู้ป่วยมะเร็ง ใช้ทำนายโรคคนในครอบครัวได้

0
160

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการพบมะเร็งเกิดซ้ำในคนเดียวกันหลายครั้ง ว่าในคนที่อายุน้อยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมสูง ดังนั้นจึงควรเก็บดีเอ็นเอของผู้ป่วยไว้สืบหายีนที่กลายพันธุ์ ทั้งนี้ บุตรและพี่น้องเป็นญาติที่มีความเสี่ยงสูง หากไม่มีผลการตรวจดีเอ็นเอควรจะตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งตามหลักแพทย์ต้องให้คำแนะนำเพราะค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัว

ทั้งนี้ มะเร็งที่มีการถ่ายทอดในครอบครัว พบได้สูงร้อยละ 5-10 ของมะเร็งทั้งหมด หากทราบว่าเป็นการถ่ายทอดในครอบครัวและเป็นยีนใดนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการรักษาชีวิตทุกคนที่มียีนนี้ หากเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อย เช่น มะเร็งเต้านมในครอบครัว การป้องกันโรคจะทำได้โดยง่าย เช่น กรณีของแองเจลินา โจลี ดาราฮอลลีวูดที่ได้ทำการผ่าตัดเต้านมและรังไข่ออกในเวลาที่ก่อนจะเป็นมะเร็ง หลังจากทราบประวัติของพี่สาวที่มียีนกลายพันธุ์ยีนเดียวกัน อย่างไรก็ตามมะเร็งที่พบในครอบครัวมีอีกจำนวนมากที่ยากต่อการวินิจฉัยและทราบถึงยีนที่กลายพันธุ์ ในกลุ่มนี้ทางออกปัจจุบันคือการเก็บดีเอ็นเอของผู้ป่วยเพื่อหาการกลายพันธุ์ในอนาคต ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำนายโรคของผู้อื่นในครอบครัว

ลักษณะทั่วไปที่จะทำให้สงสัยว่ามะเร็งนั้น ๆ ถ่ายทอดในครอบครัว ได้แก่ 1. การพบว่ามีเครือญาติเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน 2. เป็นมะเร็งเมื่ออายุน้อยกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่เป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน 3. เป็นมะเร็งมากกว่าหนึ่งที่และการเป็นซ้ำ 4. เป็นมะเร็งมากกว่าหนึ่งชนิด

“ผู้ป่วยควรให้ข้อมูลประวัติกับแพทย์ผู้รักษา เพื่อขอคำปรึกษาว่ามะเร็งที่เป็นมีโอกาสถ่ายทอดในครอบครัวหรือไม่ และความรู้ทางพันธุกรรมจะช่วยทุก ๆ คนในครอบครัว” ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. กล่าวสรุป