คลินิคสัญจรเอสเอ็มอีประชาราษฎร์ @แม่สอด จ.ตาก

0
126

“อุตตม” ลงพื้นที่ จ.ตาก เสริมเขี้ยวเล็บเอสเอ็มอี แย้มเตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เดินหน้าสานต่อ “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” เร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งเอสเอ็มอีไทยครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) ณโรงแรมเซ็นทารา แม่สอด ฮิลล์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงาน ว่า การจัดคลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 โดยผลักดันการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจากการ “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่การ “สร้างมูลค่า” และการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) สำหรับพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (Myawady Trade Zone) ของสหภาพพม่า ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 10 กิโลเมตร และมีพื้นที่ตั้งอยู่ปลายแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor : EWEC) เป็นจุดตัดระหว่างแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ North-South Economic Corridor (NSEC) มีโครงข่ายการคมนาคมทางบกที่สนับสนุนการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า มีสนามบินพาณิชย์ และเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตร แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ตลอดจนเป็นประตูสู่อันดามัน และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ พม่า จีน นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าขายเป็นประตูสู่ยุโรปได้ โดยในปีที่ผ่านมา 2559 สถิติมูลค่าสินค้าส่งออก ด่านศุลกากรแม่สอด อยู่ที่ประมาณ 79,627 ล้านบาท และในปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน อยู่ที่ 61,422 ล้านบาท ด้านธุรกิจนำเข้าอยู่ที่ 4,179 ล้านบาท

“กระทรวงฯ โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากไว้แล้ว ณ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด มีพื้นที่ประมาณ 671 ไร่ โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับนิคมดังกล่าวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจจังหวัดตาก คือ การให้บริการโลจิสติกส์ เช่น คลังสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ (พื้นที่รวมประมาณ 33%) และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เกษตรแปรรูปและอาหาร เครื่องเรือนจากไม้ และ อัญมณีเครื่องประดับ (พื้นที่รวมประมาณ 66%) โดยมีการกำหนดพื้นที่โซนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งมีศูนย์ SMEs Development Center ซึ่งจะให้บริการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์กลาง เช่น 3D-Priner Co-Working Space และการพัฒนา SMEs ที่ตั้งอยู่ในนิคมและบริเวณใกล้เคียงด้วย ในขณะที่พื้นที่ที่เหลือจะถูกกันไว้เป็นเขตพาณิชยกรรม ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแนวกันชน โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการพื้นที่ในเฟสแรกได้ตั้งแต่ปลายปี 2561” นายอุตตม กล่าว

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้มาร่วมงานด้วย ได้กล่าวเสริมว่า การทำธุรกิจให้เติบโตไม่สามารถอยู่ลำพังได้ จะต้องเชื่อมโยงกันหมด เนื่องจากเป็น AEC แล้ว โดยในเรื่องของเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทางรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 20,000 ล้านบาทในการสนับสนุนเอสเอ็มอี และได้เสริมความรู้ โดยเฉพาะด้านการผลิต ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันได้ โดยทำให้เกิดความแตกต่างในผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยดูแลในเรื่องของการตลาด โดยพื้นที่อำเภอแม่สอด เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่สามารถสร้างมูลค่าการค้าชายแดนได้อย่างมหาศาล ดังนั้น รัฐบาลจึงอยากให้เอสเอ็มอีมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้กลายเป็นเอสเอ็มอีที่แข็งแกร่งและสามารถแข็งขันได้อย่างยั่งยืน