นายกรัฐมนตรีไทยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการประชุม BRICS

0
510
(170905) -- XIAMEN, Sept. 5, 2017 (Xinhua) -- Chinese President Xi Jinping chairs the Dialogue of Emerging Market and Developing Countries in Xiamen, southeast China's Fujian Province, Sept. 5, 2017. Brazilian President Michel Temer, Russian President Vladimir Putin, Indian Prime Minister Narendra Modi, South African President Jacob Zuma, Egyptian President Abdel-Fattah al-Sisi, Guinean President Alpha Conde, Mexican President Enrique Pena Nieto, President of Tajikistan Emomali Rahmon and Thai Prime Minister Prayut Chan-o-cha attended the dialogue.

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ สื่อมวลชนจีน 6 สำนักข่าวที่ประจำประเทศไทยเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้

คำถาม :
1.ตั้งแต่การก่อตั้งกลไก BRICS เป็นต้นมา BRICS มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ผลักดันธรรมาภิบาลโลก กระบวนการประชาธิปไตย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ท่านนายกรัฐมนตรีไทยคิดว่าใน 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ BRICS มีบทบาทอย่างไรในเวทีโลก ท่านคิดว่าการจัดประชุมครั้งนี้ที่เซี่ยเหมินมีบทบาทและความสำคัญอย่างไร
2. ในระหว่างการจัดประชุมครั้งนี้ จะมีการประชุมพูดคุยระหว่างประเทศ BRICS กับประเทศกำลังพัฒนา ในรูปแบบ BRICS+ ซึ่งหวังที่จะเป็นกลไกส่งเสริมการพูดคุย ความร่วมมือระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อรูปแบบ BRICS+ และท่านคิดว่า รูปแบบ BRICS+ มีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา
3. ท่านมองบทบาทของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Countries) และประเทศกำลังพัฒนาในสังคมโลกอย่างไร และบทบาทของจีนในการบริหารจัดการระดับสังคมโลกอย่างไร

คำตอบที่นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์
กลุ่มประเทศ BRICS มีบทบาทนำที่สำคัญในการเป็น “กระบอกเสียง” ให้กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยการผลักดันเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจโลกให้สอดคล้องกับบริบทของโลกปัจจุบันเพื่อขยายการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ในองค์กรทางเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเสียงของกลุ่ม BRICS ได้รับการยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ เช่น ในการประชุมกลุ่ม 20 ทุกครั้งจะมีการประสานท่าทีกลุ่ม BRICS เพื่อสะท้อนเสียงของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่อย่างมีน้ำหนัก เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมาก และมีบทบาทสูงในเวทีระหว่างประเทศ

ผลงานของกลุ่ม BRICS ที่ผ่านมาที่เป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ ได้แก่ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank หรือ NDB) และกองทุนเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement หรือ CRA) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลกว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาพร้อมแล้วที่จะใช้กลไกความร่วมมือแบบใต้ – ใต้ นำเสนอทางเลือกใหม่ที่จะดำเนินงานควบคู่ไปกับสถาบัน Bretton Woods อย่างธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งกลุ่ม BRICS เองก็ผลักดันให้มีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเปิดกว้างให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

คู่ขนานไปกับการประชุม BRICS Summit ครั้งนี้ที่เมืองเซี่ยเหมิน จีนได้ริเริ่มจัดการหารือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 5 ประเทศจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ไทย อียิปต์ ทาจิกิซสถาน เม็กซิโก และกินี ซึ่งอาจมองว่าเป็นเสมือนตัวแทนประเทศกำลังพัฒนาจากแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจของทั้ง 10 ประเทศรวมกันแล้ว จะมีประชากรรวมกว่าร้อยละ 46 ของโลก สัดส่วน GDP รวมกว่าร้อยละ 30 ของโลก และปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกว่าร้อยละ 46 ของโลก ซึ่งสามารถร่วมกันสร้างแรงขับเคลื่อนที่เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของโลกได้จริง โดยการหาทางร่วมมือกัน โดยต่อยอดจากการดึงศักยภาพ ความหลากหลาย และจุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมีอยู่มาผนึกกำลังร่วมกัน ทั้งในด้านของความรู้ความเชี่ยวชาญ เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากร เพื่อสร้าง“หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในบริบทของความร่วมมือใต้ – ใต้ ก็จะถือเป็นอีกก้าวสำคัญของกลุ่ม BRICS ในการสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุม

ดังนั้น การที่กลุ่ม BRICS ยื่นมือออกไป (reach out) เพื่อร่วมมือกับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ จากทั่วทุกภูมิภาคของโลก ถือได้ว่าเป็นการสร้างความครอบคลุม (inclusiveness) ให้แก่วาระของกลุ่ม และเป็นหลักประกันว่า วาระต่าง ๆ ที่กลุ่มพยายามผลักดันสะท้อนมุมมองของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ซึ่งการ reach out ในรูปแบบ BRICS + นี้จะเป็นการเสริม legitimacy ให้กับท่าทีและวาระที่กลุ่ม BRICS ผลักดันในเวทีโลกต่อไป ไทยจึงขอชื่นชมและสนับสนุนให้กลุ่ม BRICS ยึดแนวปฏิบัติแบบ BRICS + ต่อไป

ในปัจจุบัน จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก บทบาทของเศรษฐกิจจีนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกจึงมีความชัดเจนอย่างยิ่ง เศรษฐกิจที่แข็งแรงของจีนไม่เพียงแต่จะเพิ่มพลวัตขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักประกันด้วยว่า การนำเข้าและส่งออก รวมถึงสายพานการผลิตของประเทศ ส่วนใหญ่จะยังเดินหน้าต่อไปได้ ดังที่เคยมีการกล่าวไว้ว่า “เมื่อจีนจาม ทั้งโลกก็ติดหวัดไปด้วย” จีนจึงจำเป็นต้องรักษาสุขภาพ (เศรษฐกิจ) ให้ดี ทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อมิตรประเทศ

การจัดการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในครั้งนี้แสดงถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในการขยายการมีส่วนร่วมของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลกและการขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทุกประเทศควรร่วมมือกันในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ไทยสนับสนุนความตั้งใจของจีนที่จะเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่มีสมดุล เปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และมีระบบการค้าสากลที่เป็นไปตามกฎระเบียบของ WTO อีกทั้งยังสนับสนุน การพัฒนาของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาผ่านการทำงานร่วมกันทั้งระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน รวมถึงการเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย SDGs และ 2030 Agenda for Sustainable Development ผ่านความร่วมมือในกรอบ BRICS+

คำถาม :
ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ท่านคาดหวังว่าอาเซียนควรมีการพัฒนาอย่างไรในอนาคต ท่านมองความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนอย่างไร และท่านคิดว่าอาเซียนกับประเทศ BRICS สามารถมีความร่วมมือกันในสาขาใดบ้าง

คำตอบที่นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์
(1) โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่สูงขึ้นในหลายพื้นที่ ดังนั้น ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศที่สนับสนุนระบบภูมิภาคนิยมพหุภาคีนิยม บนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศและผลประโยชน์ร่วมกัน ควรที่จะร่วมมือกันเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน

– ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งอาเซียนในปีนี้ อาเซียนควรตระหนักถึงความท้าทายต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้สามารถมีบทบาทในเชิงรุก มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และร่วมมือกับประเทศและองค์กรหุ้นส่วนต่าง ๆ รวมทั้ง BRICS เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เปิดกว้างและมองไปในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนและของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

– ในขณะเดียวกัน ประชาคมอาเซียนจะต้องเป็นประชาคมที่มุ่งมองไปนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ และมีภูมิต้านทานที่จะสามารถบริหารจัดการกับเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ในการนี้ สิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคไว้ได้อย่างมั่นคง คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งทุกประเทศที่เข้าร่วมรวมกันแล้วเป็นร้อยละ 52 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก การสร้างเสริมความแข็งแกร่งของความร่วมมืออาเซียนบวกสาม การผลักดันให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียนมีผลบังคับใช้ในโอกาสแรก และการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน

– ในการมองไปข้างหน้า อาเซียนจะต้องดำเนินการที่เป็นการมุ่งมองไปในอนาคตตามกระแสและวาระการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 และการเตรียมความพร้อมของอาเซียนในอีก 20 ปี ข้างหน้า อาเซียนจึงต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศต่าง ๆ เช่น BRICS เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ความร่วมมือของภูมิภาคที่จะส่งเสริมระบบภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม

(2) ประเด็นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ BRICS คือการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในภูมิภาค หากอาเซียนและ BRICS สามารถร่วมกันช่วยผลักดันให้มีการเชื่อมระหว่างยุทธศาสตร์ ความเชื่อมโยงของอาเซียนภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน เป็นต้น ก็น่าจะช่วยทำให้ความเชื่อมโยงในภูมิภาคมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

(3) ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนนั้น จีนเป็นประเทศคู่เจรจาอาเซียนที่มีพัฒนาการที่รวดเร็วที่สุด และจีนสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนผ่านความร่วมมืออันหลากหลายรวมทั้งการลดช่องว่างระหว่างกันในอาเซียน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและจีนได้ให้การรับรองแนวทางการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Framework of a Code of Conduct in the South China Sea) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea) สะท้อนถึงความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญต่อประชาคมโลกว่า อาเซียนและจีนสามารถมีท่าทีร่วมกันในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเช่นปัญหาทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ อาเซียนและจีนกำลังจะร่วมกันจัดทำ 2030 Vision for ASEAN – China Strategic Partnership เพื่อฉลองครบรอบ 15 ปีของการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน ในปีหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นระหว่างอาเซียนและจีนที่จะเดินหน้าไปด้วยกันในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน

ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ Emerging Markets Country มีประสบการณ์ ในการพัฒนาประเทศมีส่วนที่คล้ายคลึงกับประเทศ BRICS ประเทศไทยได้นำเสนอยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในอนาคตประเทศไทยมีแผนที่จะร่วมมือกับประเทศ BRICS อย่างไร เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติได้มีการปฏิบัติและเกิดผล

– ไทยมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ โดยมีที่ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน และสามารถเป็นประตูเชื่อมโยงภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งกับประเทศเพื่อนบ้าน อนุภูมิภาค และอาเซียน ดังนั้น ไทยจึงให้ความสำคัญในการร่วมมือกับทุกประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านในทุกมิติ ไทยได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผลักดันแผนแม่บทอาเซียนด้านความเชื่อมโยง รวมถึงแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ACMECS IORA ACD ซึ่งจะเป็นส่วนส่งเสริมข้อริเริ่มการพัฒนาความเชื่อมโยงของสมาชิก BRICS ต่างๆ ที่มุ่งบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 อาทิ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative) หุ้นส่วนภูมิภาคยูเรเชียของรัสเซีย (Greater Eurasian Partnership) และนโยบายรุกตะวันออกของอินเดีย (Act East Policy) โดยไทยมองว่า ข้อริเริ่มและนโยบายเหล่านี้แม้พัฒนาบนพื้นฐานของศักยภาพและจุดแข็งที่หลากหลาย แต่ต่างมุ่งเป้าหมายเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งสามารถเชื่อม โยงและเกื้อกูลกันได้ และการประชุม BRICS + นี้ เป็นโอกาสในการที่จะมาหาทางสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านไม่เพียงในภูมิภาคเอเชีย และแต่ยังเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย

– อย่างไรก็ตาม เงินทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไทยจึงหวังว่าจะสามารถพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ BRICS เพื่อขยายสมาชิกภาพและโครงการเงินกู้ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (New Development Bank) ให้ครอบคลุมประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนานอกกลุ่ม BRICS ด้วย เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนา

– นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงระดับประชาชนนับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งหวังว่าไทยและกลุ่มประเทศ BRICS จะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนา Smart Human Capital ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านวิจัยและพัฒนา ในสาขาที่กลุ่มประเทศ BRICS มีความเชี่ยวชาญ อาทิ สาธารณสุข เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

– โดยในส่วนของ “นโยบายประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) ไทยยินดีที่จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งมีสมาชิกหลายประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านความเชื่อมโยงดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บริการทางการเงินออนไลน์ รวมถึงกฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยของข้อมูล และการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้อง

คำถาม :
ท่านมองความสัมพันธ์ไทย – จีนในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้เสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ท่านคิดว่า หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางมาเชื่อมโยงประเทศไทย 4.0 อย่างไร และมีโอกาสสำหรับประเทศไทยอย่างไร ประชาชนจีนให้ความสนใจเรื่องรถไฟไทย – จีน ท่านก็พยายามผลักดันและเร่งรถไฟไทย – จีน ท่านมองบทบาทของรถไฟไทย – จีนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างไร

คำตอบที่นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์
(1) ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คือนโยบายของจีนที่มุ่งเน้นความเชื่อมโยง จากเอเชีย แอฟริกา และยุโรปและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ การประสานนโยบาย การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน การบูรณาการทางการเงิน และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

– ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีการดำเนินนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเน้นการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในทุกรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้และความคิดที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อการลดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไทยหวังว่าจะช่วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับกรอบอนุภูมิภาค CLMVT หรือ ACMECS ผ่านการเชื่อมโยงทั้งทางด้านกายภาพ (โครงสร้างพื้นฐาน) ด้านกฎระเบียบ (เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการเงิน) และด้านประชาชน (ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล) รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่กรอบภูมิภาค ในระดับอาเซียนและระดับโลก

– โดยที่เส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางยังมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 6 เส้นทาง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ China-Indochina Peninsula Economic Corridor (CICPEC) ซึ่งเกี่ยวข้องกับไทยและอาเซียนโดยตรง อีกทั้งการที่ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางในอาเซียน และเป็นจุดตัดของระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ East West Economic Corridor /North South Economic Corridor/ South South Economic Corridor รวมทั้งมีนโยบายที่จะยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของภูมิภาคโดยใช้การเป็น Thailand 4.0 จึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

(2) ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกันมาโดยตลอด ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ในขณะนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากที่สุดช่วงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ มีความร่วมมือทั้งในด้านนโยบายและที่เป็นรูปธรรม ไทยเปิดกว้าง จีนก็เปิดกว้าง เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่จริงใจต่อกัน

– แนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” สะท้อนความปรารถนาของจีนที่จะแสดงบทบาทนำในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของโลกเข้าด้วยกัน และทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า เงินทุน เทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนบุคลากรที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระจายความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ไทยจึงสนับสนุนบทบาทของจีนภายใต้แนวคิดนี้มาโดยตลอด

– การเชื่อมโยงคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไทยตระหนักดีและให้ความสำคัญอย่างมาก ทั้งการเชื่อมโยงในประเทศและในภูมิภาค โครงการรถไฟไทย – จีน คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม โดยรถไฟสายนี้ ไม่เพียงแต่จะเชื่อมการคมนาคมภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะมีบทบาทเป็นพระเอกในการเชื่อมโยงภูมิภาคระหว่างจีนกับไทย เป็นประโยชน์ในการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตอนนี้โครงการมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งก็เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังและจริงใจของทั้งสองฝ่าย ความสำเร็จของโครงการนี้จึงถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของไทยและจีน

– จีนมีโครงการและข้อริเริ่มที่ดีจำนวนมาก ไทยจึงพร้อมจะร่วมมือกับจีนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริม การพัฒนาทั้งของไทย ของจีน และของภูมิภาค ในการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม BRICS ครั้งนี้ ทั้งสองประเทศจะร่วมกันลงนามใน (1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ฉบับที่ 3 ซึ่งจะเป็นกรอบใหญ่ให้เราจับมือกันก้าวไปข้างหน้า และ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษ ที่ 21 ซึ่งจะเชื่อมโยงให้เราทำงานใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

– นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนบทบาทการเชื่อมโยงในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี ผ่านการดำรงตำแหน่งประธานในกรอบ 3A ในช่วงปี ค.ศ. 2018 – 2022 ได้แก่ (1) แอ็กเม็ก (ACMECS) วาระปี ค.ศ. 2018 (2) อาเซียน (ASEAN) วาระปี 2019 และ ( 3) เอเปค (APEC) วาระปี 2022 ด้วย ไทยมีแผนจะผลักดันการเชื่อมโยงในภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เกื้อกูลกับนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีนเช่นกัน