“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และ “ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก” : โอกาสทองของไทย

0
446

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ธนาคารกรุงเทพจัดงานเสวนานุกรมความรู้ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ “Connecting Asia: New Opportunity for Pragmatic Cooperation Between Thailand and China” ณ ห้องประชุมชั้น 30 สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ โดยมีคุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับและได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากจีนและไทยมาร่วมให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์

คุณชาติศิริ โสภณพนิชเกริ่นนำในช่วงเปิดงานไว้ว่า สำหรับภูมิภาคเอเชียแล้วประเทศไทยจะมีบทบาทสูงในการดึงดูดนักลงทุน ประกอบกับไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศจีน การที่นักลงทุนจีนมาลงทุนในประเทศไทยหรือการร่วมทุนที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

หลังจากนั้น คุณอู๋ จื้ออู่ อุปทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวถึงการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ตอกย้ำว่าจีนพร้อมขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างเปิดกว้าง เสรี และยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิด Belt & Road หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนได้นำเสนอไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถึงขณะนี้การค้าการลงทุนในแถบเส้นทางสายไหมคึกคักและพัฒนายิ่งขึ้น นักลงทุนจีนได้เข้าไปลงทุนในประเทศในแถบเส้นทางสายไหมแล้วกว่า 20 ประเทศ

ด้านธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียหรือ AIIB ก็อนุมัติเงินทุนไปแล้ว 21 โครงการ เป็นเงิน 3,490 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ บริษัทชั้นนำจากจีนขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค ด้านประเทศไทยนั้นมีอนาคตที่สดใส โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี Eastern Economic Corridor (EEC) สามารถใช้จุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของไทยเจริญก้าวหน้า รวมถึงกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ได้ ไทยกับจีนสามารถร่วมมือกัน โดยใช้การเชื่อมโยงในระดับสูงแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ประสานงานกันด้านเศรษฐกิจนโยบายมหภาค เพิ่มจุดพัฒนาใหม่โดยร่วมมือกับประเทศจีน เช่น การพัฒนาโครงการ อีอีซีร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยจีนมีความเชื่อมั่นว่าภายใต้ความตั้งใจร่วมมืออย่างเต็มกำลังของทั้งสองประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ต้องประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน

ขณะที่ในช่วงเสวนาเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์และเปรียบเทียบแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย โดย ดร.ถัง ฉีฟาง ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ญี่ปุ่น, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน ญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงความร่วมมือในเอเชียตะวันออก จากสถาบันการศึกษานานาชาติแห่งประเทศจีนหรือ China Institute of International Studies ดร.ถังมองว่าประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาการพัฒนาที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ โดยภาคตะวันออกของไทยถือได้ว่าเป็นส่วนที่พัฒนาค่อนข้างมาก โครงการอีอีซีเป็นการวางแผนในระยะยาวซึ่งต้องการการพัฒนาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การใช้มาตรา 44 จะช่วยให้ร่นระยะเวลาในการอนุมัติเรื่องต่างๆสำเร็จได้ไวขึ้น ส่วนความร่วมมือนั้นสามารถใช้รูปแบบเปิดเสรีให้เอกชนได้เต็มที่หรือ Public-Private Partnership (PPP) โดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาพื้นที่

ศ.เจิ้ง จิ่นหรง หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านไอทีจากสถาบันการเอาต์ซอร์สของจีนหรือ China Outsourcing Institute ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มเศรษฐกิจ การบริหารจัดการระบบและโครงการ ได้เล่าถึงสถานการณ์การลงทุนของจีนโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 20% ในปีที่แล้ว รวมถึงมองข้อได้เปรียบของไทยในแง่สถานที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมซึ่งเป็นมิตรต่อการลงทุน นิคมอุตสาหกรรมระยองก็ได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีน ทำให้ผู้ประกอบการของจีนมีความมั่นใจและกล้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อความสำเร็จของโครงการอีอีซีควรต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ ทำให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ประกอบการจีน ดึงดูดนักลงทุนด้วยนโยบายและข้อเสนอพิเศษ รวมถึงการสร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนกับเมืองหรือมณฑลใหญ่ๆ ของจีน เป็นต้น

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตอกย้ำความมั่นใจว่าการลงทุนในเขตเส้นทางสายไหมจีน หากมองเรื่องพื้นที่ที่ลงทุนแล้วให้ผลประโยชน์คุ้มค่าที่สุด ภูมิภาคนั้นก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ จำนวนประชากรมาก รายได้ต่อหัวพอสมควร และมีอัตราการเติบโตระดับดี โดยไทยได้เปรียบในเรื่องสถานที่ตั้งของประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่แน่นแฟ้นกับประเทศจีน หากมองในเรื่องของโอกาสแล้วไทยจำเป็นต้องทำให้ตนเองเป็นเกตเวย์สู่จีนตะวันตก (แถบคุนหมิง) ให้ได้ โดยเป็นเส้นทางสำคัญที่จะทะลุออกสู่มหาสมุทร การเป็นหุ้นส่วนในการผลิตด้านอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น รถยนต์ยี่ห้อเอ็มจีที่ทางเซี่ยงไฮ้ออโต้ร่วมมือกับบริษัทซีพีของไทยในการผลิตและพัฒนา โอกาสทางด้านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งรัฐบาลไทยเตรียมตัวปลดล็อคกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอีคอมเมิร์ซ และการจัดหา (Sourcing) ในภูมิภาค ทำให้สินค้าหลายชนิดที่ผ่านแดนไทยและส่งต่อไปยังประเทศที่สามสามารถยกเว้นการตรวจมาตรฐานคุณภาพได้หากไม่มีการเปิดหีบห่อ หรือการสนับสนุนให้จีนมาตั้งสำนักงานระดับภูมิภาค (Regional Headquarters) ที่ไทย ในมุมมองของรัฐบาล โครงการอีอีซีจะเป็นจุดพื้นที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงกับประเทศจีน เป็นเครือข่ายการขนส่ง (Regional Supply Chain) เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจการค้าทั้งในไทยและอินโดไชน่า ทั้งนี้ยังมองไกลถึงการก่อตั้งวังจันทร์วัลเลย์ (Wang Chan Valley) ที่มีแนวคิดแบบเดียวกับซิลิคอนวัลเลย์ รวมทั้งสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศมาตั้งสาขาในเขตอีอีซี

ขณะที่คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน ได้ให้มุมมองในฐานะนักธุรกิจไว้ว่า CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย ) ในฐานะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสามารถดึงดูดจีนและนักลงทุนจากทั่วโลก การท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมเด่นของภูมิภาคจะเป็นตัวนำไปสู่การค้าขาย การลงทุน และประเทศที่เป็นมือวางอันดับหนึ่งด้านการท่องเที่ยวก็คือไทย ไทยถือว่าได้เปรียบในแง่ต้นทุน เราต้องบริหารทรัพยากรให้ดี ภายใต้แนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและอีอีซี จะทำให้ภูมิภาคนี้เติบโตที่สุดและประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากที่สุด

เรียบเรียงและรายงาน : อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

คลิปข่าว