“250 ปีพระเจ้าตากสินมหาราช ต้นธารจีนสยาม” (2)

0
848
ภาพที่พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา แสดงให้เห็นถึงพระราชพงศาวดารการจลาจลในกรุงธนบุรี ตอนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่1) กลับจากราชการทัพเมืองเขมร (ที่มาภาพ: http://bit.ly/2BJ9HKU)

กู้เมืองได้แล้วจึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม

ยุคสมัยพระเจ้าตากนอกจากเด่นเรื่องการกู้ชาติแล้ว สิ่งที่เจริญรุ่งเรืองหลังจากนั้นคือการพัฒนาของเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม  พระเจ้าตากฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินแจกข้าวชาวบ้าน เพราะเห็นประชาชนลำบากกันมาก จึงเร่งให้คนมีกินก่อน โดยพระเจ้าตากเลือกที่จะกู้เศรษฐกิจให้ประชาชนมีกินมีใช้ก่อน แล้วจึงไปฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมภายหลัง

ช่วงแรกเฉียนหลงฮ่องเต้ไม่ยอมรับฐานะกษัตริย์

ยุคที่พระเจ้าตากขึ้นครองราชย์ตรงกับยุคสมัยพระเจ้าเฉียนหลงของจีน บันทึกระบุว่าพระเจ้าเฉียนหลงไม่ยอมรับพระเจ้าตากในฐานะกษัตริย์ เนื่องด้วยท่านรบชนะ แต่ไม่ยอมอัญเชิญลูกกษัตริย์เก่าขึ้นสืบทอดต่อ สมัยก่อนนั้นราชสำนักจีนเปรียบกับสหประชาชาติ คือประเทศไหนอยากค้าขายต้องให้จีนรับรองก่อน

ในยุคกรุงธนบุรี อาจจะแบ่งได้เป็นสามช่วง ดังนี้ 1.ไม่ยอมรับ 2.รักษาอำนาจได้ จีนเปลี่ยนท่าที และ 3.ราบรื่น ได้รับการยอมรับ มีเอกสารระบุว่าพระเจ้าตากเคยขอลูกสาวพระเจ้ากรุงจีน แสดงว่าพระเจ้าตากได้รับการยอมรับจากจีนในที่สุด

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้พระเจ้าตากกู้กรุงได้ไว

นอกจากพระเจ้าตากจะกู้กรุงธนบุรีได้เร็วแล้ว พม่าเองก็ตีไทยไม่ค่อยได้ ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีปัจจัยช่วยสนับสนุน คือ พม่าติดศึกพัวพันกับจีนอยู่ แม่ทัพของพม่าอะแซหวุ่นกี้รบเก่งมาก ขนาดราชบุตรเขยจีนยังตายคาสนามรบ ช่วงนั้นจีนยกทัพมาตีพม่า พม่าต้องถอนทัพไปรบจีน ทำให้พระเจ้าตากกู้ชาติได้ กระแสโลกช่วงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง กษัตริย์เขมรต้องมาพึ่งอยุธยา ธนบุรี หลังจากพม่าเสร็จศึกจีน ยังมีเรื่องภายในให้จัดการอีก ในปี 2318 อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาบุกไทย ถ้ารับศึกไม่ดีคงไม่ได้เกิด พระเจ้าตากทรงทุ่มเทกับศึกครั้งนี้มาก ต้องบอกว่าโชคช่วยด้วยอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่พม่า พระยามังระป่วยตาย ทำให้อะแซหวุ่นกี้โดนเรียกตัวกลับ

ส่วนเรื่องราวตอนที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี (รัชกาลที่1– ยศในตอนนั้น) หรือในฉากที่เจ้าพระยาจักรีเอาพิณพาทย์ขึ้นดีดบนกำแพง คาดว่าจะเป็นเรื่องแต่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากสามก๊กของจีนมากกว่า เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ไทยรบพม่าตอนนี้ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งในสมัยนั้นมีการแปลนิยายสามก๊กมาเป็นภาษาไทยแล้ว

ในศึกรบช่วงหลังลูกน้องพระเจ้าตากรวมทั้งไพร่พลก็สูญเสียเป็นจำนวนมากแต่ข้างฝ่ายของทัพเจ้าพระยาจักรีไม่ค่อยชำรุดมากเมื่อมาดูจากแผนที่เช่นทางเมืองเพชรบูรณ์พม่าก็ไปไม่ถึงส่วนลูกน้องลุ่มแม่น้ำภาคกลางนั้นรับศึกพม่ามานานแล้วมีความบอบช้ำกว่าพระเจ้าตากจากเดิมเคยพึ่งลูกน้องคนสนิทตอนนี้ร่อยหรอลงก็เริ่มทำให้อำนาจลดลงทุกทีจึงทำให้ต้องประกาศตัวเป็นเจ้าศักดิ์สิทธิ์แนวจอมขมังเวทย์ (แต่ไม่ใช่สมมติเทพแบบรัชกาลที่1)

เทียบประวัติพระเจ้าตากคล้ายไซฮั่นมากกว่า

มีหลายคนนิยมโยงประวัติของพระเจ้าตากเทียบกับสามก๊กแต่นักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งมองว่าหากจะโยงกับสามก๊ก น่าจะนำไปเทียบกับไซ่ฮั่นมากกว่า อนึ่ง ไซฮั่นนั้นถึงเป็นนิยายแต่ก็แต่งเติมน้อยกว่าสามก๊ก

อุปนิสัยของฌ่อปาอ๋องคล้ายคลึงกับพระเจ้าตาก ในตอนท้ายฌ่อปาอ๋องก็ฆ่าพระเจ้าเหมี่ยนเต้ ส่วนพระเจ้าตากก็ปราบปรามและสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ โอรสพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ส่วนเรื่องพระเจ้าตากทุบหม้อข้าวตีเมือง ไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งแต่งโดยได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องจริงก็เชื่อกันว่าพระเจ้าตากเรียนยุทธวิธีนี้จากจีน

ปกหนังสือ “ไซฮั่น” พงศาวดารจีนก่อนถึงสมัยสามก๊ก โดยรัชกาลที่1 โปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลังทรงอำนวยการแปล เมื่อก่อนพ.ศ.2349  คู่กับหนังสือสามก๊ก (ที่มาภาพ: http://bit.ly/2CeRWV3)

เคร่งข้อวัดสงฆ์ฟื้นฟูพุทธศาสนาชำระพระไตรปิฎก

จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า ไทยมีการสังคายนาพระไตรปิฎกตั้งแต่ยุคพระเจ้าตากแล้ว ท่านค่อนข้างเคร่งเรื่องวินัยสงฆ์ หากมีคนส่งพระมาเจรจากิจธุระไม่ว่าจะด้านการทูตหรือใดๆ ท่านไม่โปรด โดยจะตรัสถามว่าฆราวาสไม่มีแล้วหรือ ถึงต้องส่งพระมา? “  ถ้ามีการฝากให้ถือจดหมายมา บางทีท่านถึงกับจับสึกเลย เพราะในวินัยสงฆ์มีสังฆาทิเสสอยู่ที่กล่าวว่าหากพระทำตัวเป็นสื่อให้ชายหญิงพากันหนีจะต้องอาบัติ (คือพระถือจดหมายมา หากไม่ได้เปิดอ่านจะทราบไหมว่าเนื้อความด้านในเขียนไว้อย่างไรบ้าง ถ้าเนื้อความในนั้นเป็นหนุ่มสาวเขียนชักชวนกันหนี สงฆ์ก็ต้องอาบัติ)  ตอนนั้นสงฆ์แตกเป็น 2 ฝ่าย มีคนถามว่าพระจะไหว้โสดาบันได้ไหม แต่พงศาวดารนี้ชำระในช่วง ร.4 ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็เป็นได้ ส่วนอีกคำถามว่าท่านมีเชื้อจีนมีการไหว้เจ้าหรืออะไรทำนองนี้ไหม จากเอกสารเบื้องต้นไม่พบว่ามีการไหว้เจ้าอย่างเป็นทางการ

น. นพรัตน์ นักแปลนิยายจีนชื่อดังของไทยสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนา

พระเจ้าตากฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมส่งไม้ต่อให้รัตนโกสินทร์

พระเจ้าตากยังมีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ท่านมีส่วนในการแต่งวรรณคดี สำนวนอาจจะไม่สละสลวยนัก เนื่องจากท่านเป็นนักรบไม่ใช่ศิลปิน นอกจากนี้ยังดำริให้ฟื้นละครรามเกียรติ์ แต่งเล่นแบบอยุธยา พอเข้าช่วงต้นรัตนโกสินทร์หรือรัชกาลที่1 มีคนเก่งมาช่วยสืบทอดมากมาย คุณูปการที่ไม่อาจมองข้ามได้คือการที่พระเจ้าตากทำหน้าที่ส่งไม้ต่อ หากแม้ท่านไม่ใส่ใจทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ป่านนี้คงสูญหายไปเป็นจำนวนมาก การที่ท่านส่งไม้ต่อนี้ ทำให้ไทยสามารถรักษาศิลปะแบบเก่าๆ ได้มาก ประจวบกับแนวทางของรัชกาลที่1 ซึ่งหากท่านตีเมืองไหนได้ก็จะรวบรวมเอาหนังสือที่ทรงคุณค่ามาเก็บรักษาไว้ ศิลปวัฒนธรรมจึงสืบเนื่องกันต่อได้ไม่สูญหายไปหมด

ส่วนเรื่องการฟื้นฟูละครขึ้นมา ตอนที่ฉลองรับพระแก้วมรกตเข้าสู่รัตนโกสินทร์ ได้มีการจัดละครเฉลิมฉลองทั้งจีนทั้งไทย ในช่วงนี้มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล็กน้อยช่วงเปลี่ยนรัชกาล ซึ่งก็เหมือนสมัยพระเจ้าตากที่ต้องรายงานทางเมืองจีน โดยรัชกาลที่ 1 แจ้งไปทางจีนว่าเป็นลูกพระเจ้าตาก (ในความเป็นจริงน่าจะมีศักดิ์เป็นพ่อตาของพระเจ้าตาก) แต่ตอนนั้นทางจีนเชื่อ เพราะ ร.1 ท่านทรงเก่งเรื่องการบ้านการเมือง

ช่วงปลายกรุงธนบุรี มีการจัดระเบียบระบบการปกครองใหม่ มีการเชิดชูตำรามหาดเล็ก พิธีกรรมต่างๆ รวมถึงชำระธรรมเนียมโบราณ โดยประธานชำระคือ พระยาจักรี (รัชกาลที่1)  เรื่องอื่นๆ เช่น ช่วงจังหวะเวลาในการชำระกฎหมายตราสามดวงหรือเรื่องการสักเลกข้อมือ

ช่วงหนึ่งที่ไทยมีเหตุการณ์ปลอมเหล็กสักข้อมือเกิดขึ้น ซึ่งเทียบกับสมัยนี่เท่ากับการปลอมทะเบียนราษฎร์ แต่การสักข้อมือนี้ก็ไม่ได้ยกเลิก สมัยธนบุรีเคร่งมากและตกทอดมาถึงรัตนโกสินทร์ มีเรื่องเล่าว่าราษฎรคนหนึ่งมีรอยสักถึง 3 รอย ก็เพราะอยู่มา 3 แผ่นดิน พอเปลี่ยนรัชกาลที ก็เปลี่ยนหน่วยที่สังกัดไปด้วย

ส่วนเรื่องปัญหาว่าทำไมไทยหยุดไม่ขายข้าวให้ต่างชาตินั้น คือต้องเข้าใจก่อนว่าที่เราไม่ขายเพราะเราไม่มีจะข้าวกิน สมัยอยุธยาบ้านพลูหลวง ไทยมีการขายข้าวให้จีน พอต่อมาเราเลิกขายข้าวเพื่อเตรียมสู้ศึกพม่าและคนไทยเองก็ขาดแคลน พอสถานการณ์ดีขึ้น ต่อมาอนุญาตให้ขายได้ แต่ขายให้เฉพาะคนจีนเท่านั้น โดยมาเริ่มขายข้าวอีกทีในสมัยปลายรัชกาลที่ 1

พระเจ้าตากกับเรื่องของสงฆ์

มโนทัศน์ของคนกรุงเก่ากับรัตนโกสินทร์ต่างกัน นักประวัติศาสตร์มองว่าคนยุครัตนโกสินทร์ผ่านโลกมาเยอะ แท้จริงความเป็นปัจเจกนั้นบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์แบบอยุธยาคลายลง กฎหมายของสงฆ์กรุงเทพฯ กับอยุธยาก็ต่างกัน กฎหมายสมัยธนบุรี ระบุให้พระเจ้าตากเป็นผู้มีอำนาจเหนือสงฆ์ ออกแนวศักดิ์สิทธิ์กว่า และด้วยเหตุผลนี้ทำให้กลุ่มสงฆ์ไม่พอใจ

วาระสุดท้ายของเจ้ากรุงธนบุรี

มีคนบอกว่าช่วงสุดท้ายของพระเจ้าตากเป็นบ้า วิปลาส ซึ่งนักประวัติศาสตร์โต้แย้งว่ามีการระบุไว้ว่าท่านดุและเพี้ยนแต่ไม่มีเขียนไว้ว่าบ้า

การนิยามว่าใครสักด้วยคำว่าบ้านั้น แท้จริงแล้วคนมองไม่เหมือนกัน อีกอย่างตัวเราเองก็เกิดไม่ทันสมัยนั้น ในที่นี้พอจะสรุปได้ว่าหากคิดหรือกระทำอะไรที่ผิดแปลกกว่าชาวบ้าน เขาก็จะเรียกว่าบ้าได้ เช่น บอกจะเหาะโชว์ สมัยก่อนเป็นเรื่องปกติ คนไทยค่อนข้างเชื่ออะไรที่เป็นอภินิหาร บางตำนานก็ว่าพอเงินหายก็เอาคนมาโบย มาย่างไฟ ราษฎรเดือดร้อนมาก ถึงกับมีคนสรุปไว้ว่าต้นแผ่นดินออกลูกผล ปลายแผ่นดินร้อนนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าคนรุ่นนั้นรู้อยู่แล้วว่าเกิดในร่มเศวตฉัตรไฉนเลยจะได้ตายดี

เพราะฉะนั้นเราอย่าเอาความรู้สึกสมัยนี้ไปตัดสินอดีตจะดีกว่า

นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่าพระเจ้าตากมีบุคลิกที่ดุอยู่แล้วตามวิสัยนักรบ เมื่อบวกกับมีเรื่องเครียด 2 เรื่องคือ หม่อมอุบลกับหม่อมฉิมที่ท่านโปรดมากที่สุดเป็นชู้กับฝรั่ง ประกอบกับต้องออกศึกบางกุ้งในช่วงที่พระราชชนนีประชวรหนัก ซึ่งท่านมองว่าบ้านเมืองสำคัญกว่าแม่ เลยกลับมาไม่ทันดูใจ ทั้ง 2 เรื่องนี้ทำให้ท่านโศกเศร้ายิ่งนัก จนมีอารมณ์ดุร้ายมากกว่ายิ่งขึ้น

บางตำนานระบุว่าท่านสมคบกับรัชกาลที่1 เพื่อหนีหนี้จีน เลยสร้างเรื่องให้ท่านสวรรคตซะ หากเป็นจริงแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 พระองค์คือพระเจ้าตากและรัชกาลที่1 มีการประนีประนอมกันมาก

บางคนก็บอกท่านถอดจิตไป กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ามีคนรักท่านมาก ไม่อยากให้ท่านตายแบบโดนสำเร็จโทษ

บางตำนานระบุว่าถูกประหารด้วยท่อนจันทน์แถวบริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ขณะที่นักประวัติศาสตร์มองว่าท่านถูกสำเร็จโทษจริง แต่ด้วยการตัดหัวธรรมดา เพราะหลายคนไม่ยอมรับท่านเป็นกษัตริย์

สรุปสั้นๆ ได้ว่าคนสมัยธนบุรี ต้นรัตนโกสินทร์ เลือกนายเก่งและฉลาด คนไหนที่จะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้มากที่สุดก็ควรจะยกย่องเชิดชู ส่วนปัญหาเรื่องการเชิดชูพระเจ้ากรุงธนบุรี เกิดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักประวัติศาสตร์มองว่ากลุ่มอำนาจใหม่พยายามจะนำเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะประเทศไทยไม่เคยมีฮีโร่ระดับชาติ มีระดับแต่ท้องถิ่น หลายเรื่องเลยกลายเป็นมายาคติที่ถูกทำขึ้นมา

เชื้อสายของพระเจ้าตาก

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตาก ยังมีเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ที่สืบสายเลือดโดยตรงรับราชการต่อมาจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ได้ แถมได้ไปคุมหน่วยงานสำคัญอย่างกรมหมออีกด้วย นามสกุลที่สืบเชื้อสายพระเจ้าตากมาถึงปัจจุบัน อาทิ อินทรโยธิน อินทรกำแหง ณ นครราชสีมา สินสุข พิชเยนทรโยธิน ณ นคร ณ นครราชสีมา กุญชร อิศรเสนา เป็นต้น

ภาพจากหนังสือที่บันทึกวงศ์สายสกุลของพระเจ้าตาก

บทส่งท้าย

เรื่องราวของพระเจ้าตาก หากอ่านและศึกษาตั้งแต่ต้นตนจบ เราจะพบว่าคนๆ หนึ่งผ่านเรื่องราวมามากมายจนจบลงที่หมดอำนาจและสิ้นชีวิตไป ตำนานน้อยใหญ่ได้ถูกเขียนขึ้นทั้งอิงความจริงบ้าง อิงจากความคิดตนเองบ้าง

และสำหรับประเด็นเรื่องเชื้อชาตินั้น สมัยนี้กลายเป็นเรื่องโบราณไปเสียแล้ว เราจะชื่นชมเคารพเชิดชูคนๆ หนึ่งหาได้เพียงแค่ที่ชาติตระกูลไม่ การที่เขามีความสามารถ มีสติปัญญา และทำประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ได้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ามาก เราสามารถชื่นชมคนเหล่านี้ได้ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาอีกกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

ในช่วงท้ายของการเสวนา มีผู้ฟังถามขึ้นมาว่าเมื่อนักประวัติศาสตร์ยืนยันแล้วว่าพระเจ้าตากไม่ได้บ้า แล้วทำไมเราไม่แก้ว่าท่านไม่บ้า

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ภิรมย์อนุกูลกล่าวว่าเอกสารชั้นต้นนั้นเราไปแก้ไขไม่ได้ต้องให้คนปัจจุบันนี้เป็นผู้ตอบใช้สติปัญญาวิเคราะห์และตัดสินด้วยตนเอง

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน “250 ปี พระเจ้าตากสินมหาราช ต้นธารจีนสยาม”

*หมายเหตุ : บทความนี้สรุปมาจากการบรรยายในหัวข้อ “250 ปี พระเจ้าตากสินมหาราช ต้นธารจีนสยามจัดโดยอาศรมสยามจีนวิทยา ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  บรรยายโดย ผศ.ถาวร สิกขโกศล และ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ดำเนินรายการโดย ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ..2560 เวลา 14.00 – 17.00 . ณ ห้องประชุม 1102 ชั้น 11 อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿