แนะแนวเรียนต่อมหาวิทยาลัยในเซี่ยงไฮ้ – “ECNU” มหาวิทยาลัยหัวใจสากล

0
437
“พี่แปม” น.ส. ลักษิกา ทองทรัพย์ และ “พี่หนิง” – น.ส. ประภัสสร นิกรสวัสดิ์ ศิษย์เก่า ENCU เล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตที่มหาวิทยาลัย

วันเด็กปีนี้ มีกิจกรรมดีๆ ด้านการศึกษาเพื่อเด็กไทยที่เป็นอนาคตของชาติ โดยทางมหาวิทยาลัย East China Normal University (ECNU) หรือชื่อจีน “หัวตงซือฟ่าน” อีกหนึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของมหานครเซี่ยงไฮ้มาทำการแนะนำให้ข้อมูลด้านการเรียนต่อ รวมทั้งแจกทุนการศึกษาให้แก่เด็กไทย โดยกิจกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2561 ที่ศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อประเทศจีน “ไอเก็ท” (iGET) อาคารเทรนดี้ สุขุมวิท

มหาวิทยาลัย East China Normal University (ECNU) ก่อตั้งเมื่อปี 1951 เปิดสอนหลายสาขาวิชา ได้แก่ การศึกษา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงวิทยาศาสตร์ด้านจัดการ ENCU มีชื่อเสียงมากในเรื่องความสวยงามของสถานที่ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยของจีนที่มีสวนสวยที่สุด เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 20 ของเมืองจีนจากการจัดอันดับโลกของ QS (Quacquarelli Symonds World University Rankings)

แม้ว่าหลักสูตรปริญญาตรีที่สอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักมีเพียงสาขาวิชาเดียวคือ “บริหารธุรกิจ” แต่ความไม่ธรรมดาคือหลักสูตรนี้มีความร่วมมือกับสถาบัน EMLYON ในฝรั่งเศส ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสไปเรียนที่ฝรั่งเศสและได้ปริญญาสองใบ

อาจารย์หวง เหม่ยซวี่ ตัวแทนจากฝ่ายดูแลนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัย East China Normal University (ECNU) สรุปข้อเด่นของมหาวิทยาลัยไว้ เช่น มหาวิทยาลัยมีความเป็นนานาชาติมาก เนื่องจากมีจำนวนนักศึกษาต่างชาติสนใจมาเรียนทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นเรื่องการจัดการ สวัสดิการ สาธารณูปโภค ความมีระเบียบ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรียกได้ว่ามีสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นสากล ข้อที่สองมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ชีวิตและรู้จักแบ่งปัน ทุกปีทางมหาวิทยาลัยจะนำนักศึกษาไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลเพื่อเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือ พวกเขาจะได้เห็นเมืองจีนในอีกรูปแบบหนึ่งและยังได้รู้จักการให้ ส่วนข้อสุดท้าย นักศึกษาที่นี่จะรักสถาบันและมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นั่นแสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่นี่เมื่อเข้ามาแล้ว จะได้ใช้ชีวิต ได้รับทั้งความรู้และมิตรภาพ

อาจารย์หวง เหม่ยซวี่ ตัวแทนฝ่ายดูแลนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัย East China Normal University (ECNU)

นอกจากนี้ ฝ่ายดูแลนักศึกษาต่างชาติมีอาจารย์ประจำอยู่ถึง 20 กว่าคน หอพักในมหาวิยาลัยก็มีอาจารย์ประจำ หากมีเหตุด่วนก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถช่วยลดความกังวลของผู้ปกครองที่ต้องส่งบตรหลลานไปใช้ชีวิตในต่างประเทศได้อย่างมาก

ในช่วงแบ่งปันประสบการณ์จากพี่สู่น้อง ทางไอเก็ทได้เชิญรุ่นพี่ 2 คน คือ ”พี่แปม” และ พี่หนิง”

น.ส.ลักษิกา ทองทรัพย์ หรือ “พี่แปม” เพิ่งจบปริญญาตรีจาก ECNU มาสดๆ ประสบการณ์จากพี่แปมค่อนข้างมีประโยชน์ต่อน้องๆ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม เพราะมีความคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุ เรื่องที่กังวล การเตรียมตัวต่างๆ พี่แปมบอกว่าไปอยู่โน่นไม่ต้องกลัวไม่อบอุ่น เพราะฝ่ายดูแลนักศึกษาต่างชาติช่วยได้ อาจารย์ดูแลจากใจจริง ปัญหาเล็กน้อยก็ไม่มองข้าม รู้สึกว่าเขาเข้าใจคนมาต่างแดนจริงๆ ว่าต้องการสิ่งใด

พี่แปมรู้จัก ECNU จากการที่สถานกงศุลเซี่ยงไฮ้มาทำกิจกรรมที่โรงเรียนมัธยม อาจารย์ที่โรงเรียนก็แนะนำ ในขณะที่ตัวพี่แปมเองก็หาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย โดยอันดับแรกทำการเลือกเมืองที่ชอบก่อน แล้วดูมหาวิทยาลัยที่อยากไปและมีโอกาสเข้าได้ สุดท้ายดูสิ่งแวดล้อม การเดินทาง นอกจากนี้ พี่แปมยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง หากใครไป ENCU แคมปัสที่อยู่ในเมืองแล้วได้เข้ก็สามารถสมัครเข้าชมรมแบดมินตันได้เลย เพราะพี่แปมนี่แหละที่เป็นคนขอก่อตั้งและเป็นประธานคนแรกของชมรม เรียกได้ว่าใครมีไอเดียอะไรดีๆ เสนอไปมหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุน

“พี่หนิง” – น.ส.ประภัสสร นิกรสวัสดิ์ อดีตนักศึกษาปริญญาโทด้านภาษาศาสตร์และการประยุกต์ ECNU

ด้าน “พี่หนิง” – น.ส.ประภัสสร นิกรสวัสดิ์ อดีตนักศึกษาปริญญาโท ด้านภาษาศาสตร์และการประยุกต์ของ ECNU ปัจจุบันทำงานบริษัทเอกชนและเป็นอาจารย์พิเศษ พี่หนิงจบจาก ม.กรุงเทพ และ ได้ทุน CSC (The China Scholarship Council) ไปเรียนต่อ พี่หนิงให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า ตนเองอาจจะโชคดีที่ได้รับทุน ถือว่าสิ่งที่ได้มาเป็นโอกาส การที่จะเข้ามหาวิทยาลัยอาจจะไม่ยาก แต่จะจบได้นั้นยากมาก ใช้โอกาสให้คุ้มค่า การไปเรียนที่ ECNU ต้องเรียนภาษาจีนร่วมชั้นกับนักศึกษาคนจีนที่เป็นเจ้าของภาษานั้น จะว่ายากก็ยากอยู่ แต่พี่หนิงบอกเคล็ดลับไว้ว่า “คิดซะว่าถ้าเขาวิ่ง เราก็ต้องเดิน” หมายความว่าหากเพื่อนคนจีนใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการอ่านหนังสือ เราก็ต้องใช้เวลามากกว่า เพื่อเรียนให้ทันเพื่อนๆ นั่นเอง ส่วนการเลือกสาขาวิชา อยากให้มองอนาคตว่าเขาจะต้องการคนแบบไหน อย่ามองแค่ตอนนี้เขาต้องการอะไร และเมื่อเรียนจบออกมา เรามีความสามารถเป็นที่ต้องการไหม เราจะเป็นฝ่ายที่เลือกงานไม่ใช่งานเลือกเรา

พี่หนิงมีความประทับใจกับอาจารย์ที่คณะเป็นอย่างมาก เพราะอาจารย์ที่นี่แน่นทั้งด้านความรู้และจิตวิทยา สอนให้เราคิด สอนให้เราใช้ชีวิต สมกับที่เป็นมหาวิทยาลัยด้านการสอน พี่หนิงได้นำประสบการณ์มาเป็นเทคนิคในการสอนเด็ก เด็กแบบไหนควรกดดัน แบบไหนควรปล่อย

ครอบครัวของ “น้องทราย” น.ส.กรณ์ภัสสรณ์ สมบูรณ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสาธิต พิบูลบำเพ็ญ มหาวิทยาลัยบูรพา

ด้านผู้ปกครองที่มารับฟังบรรยาย ครอบครัวของ “น้องทราย” น.ส.กรณ์ภัสสรณ์ สมบูรณ์ นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญ มหาวิทยาลัยบูรพา สนับสนุนให้น้องทรายไปเรียนต่อปริญญาตรีที่เมืองจีน โดยคุณแม่ของน้องทรายเล่าให้ฟังว่า น้องทรายเคยมีโอกาสได้ไปเรียนที่คุนหมิงแล้วชอบมาก จึงมาขอที่บ้านไปเรียนต่อปริญญาตรีที่เมืองจีน ส่วนเรื่องความปลอดภัยไม่น่าห่วงอะไร เพราะตั้งใจจะให้น้องอยู่ในหอของมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาใช้บริการของทางไอเก็ทช่วยหาข้อมูลประสานงานก็ประทับใจ เพราะเอาใจใส่ติดตามสม่ำเสมอ ด้านตัวของน้องทรายเองอยากไปเรียนต่อด้านภาษาจีนเพื่อธุรกิจ เน้นการใช้งานได้จริงหลังจากที่เรียนจบมาแล้ว

ปิดท้ายกันด้วยคำแนะนำจากอาจารย์หวง ตัวแทนจากฝ่ายดูแลนักศึกษาต่างชาติว่า นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ Belt and road จะทำให้วิสาหกิจจีนเข้ามาลงทุนหรือขยายสาขาที่ไทยมากขึ้น และแน่นอนว่าเด็กที่จบจากจีน มีความรู้ภาษาจีน และเข้าใจวัฒนธรรมจีนจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นแน่นอน

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿