สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนร่วมชม Digital Park Thailand 

0
143

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เชิญสื่อมวลชนไทย-จีน จากสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนร่วมชม Digital Park Thailand  พื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล บนพื้นที่ 830 ไร่ ภายในเขตพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้นำคณะ  พร้อมเผยแผนการพัฒนาสถาบันไอโอทีแห่งแรกของไทย หนึ่งในเมกะโปรเจค โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  โดยได้ไปเยี่ยมชม อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Inspirium) ของ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ และวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกด้วย

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า  พื้นที่ตั้ง Digital Park Thailand ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลประกาศเมกะโปรเจ็กต์ อีอีซีดิจิทัลเพื่อการเป็นศูนย์กลางความเจริญในอาเซียน ซึ่งกลุ่มโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลตั้งใจพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อในภูมิภาค ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ – ระยองเพื่อเชื่อม 3 สนามบิน คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อกับกลุ่ม CLMV จึงเป็นการยกระดับ สนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางและเป็นเมืองการบินของภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ส่วนขยาย (มาบตาพุด) และโครงการรถไฟรางคู่ (สถานีมาบตาพุด)

Digital Park Thailand ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางด้านการสื่อสารความเร็วสูงของไทย เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีดาวเทียมและสถานีเคเบิลใต้น้ำ ที่เป็น เส้นทางหลักของการเชื่อมไฟเบอร์ออพติคภายในประเทศกับต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงเปรียบเสมือน ศูนย์กลางอินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ของประเทศใน AEC และ หากพิจารณาตามสถานที่ตั้งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลในพื้นที่อย่างจริงจัง

ดร.ภาสกร ประถมบุตร กล่าวว่า โครงการ Digital Park Thailand เป็นความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) CATและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาพื้นที่กว่า 830 ไร่ ให้เกิดการลงทุนใน อุตสาหกรรมดิจิทัลจากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการกำหนดพื้นที่ใช้งานออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย โซน 1

พื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลและศูนย์การเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานจริง (Work Integrated Learning Space) โซน 2 พื้นที่ลงทุนสำหรับธุรกิจดิจิทัล เช่น International Submarine Cable Station, Smart Device, Intelligent Software, IoT and Automation, Data Center, Satellite, New Digital Content และ Data Analytic เป็นต้น และโซน 3 พื้นที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์และสิ่งอำนวยความสะดวก depa ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวกว่า 30 ไร่ หรือคิดเป็น 4 %ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสร้างสถาบันไอโอที ( IoT Institute) แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่ช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมให้บริการด้านดิจิทัลครบวงจรโดยเน้นหลักการบูรณาการร่วมกัน (Ecosystem Collaboration) ซึ่งขณะนี้ depa ได้ใช้นโยบายโดยนำแนวคิดของพันธมิตรด้าน IOT (IoT Alliance) ทั้งจากภายในประเทศและระดับสากล มาเป็นกลยุทธ์ในการผลักดันการส่งเสริมด้าน IOT โดยกลุ่มพันธมิตรหลัก ประกอบด้วย 1) สถาบันการศึกษาและหน่วยงานของภาครัฐ 2) กลุ่มผู้ประกอบการ Start up 3) ภาคเอกชน และ 4) ภาคอุตสาหกรรม

“จุดเด่นของสถาบันคือการสนับสนุนการทำกิจกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้าน IoT อย่างครบวงจร โดยการสร้างอาคารได้เน้นการนำแนวคิดของการสร้างอาคารแบบ Digital Smart Building เน้นหลักการ สนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลจากการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านสาธารณูปโภคด้านดิจิทัล (Linkage) ด้านการสื่อสาร (Communication) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ด้านการสร้างเครือข่ายพันธมิตร (Networking) และด้านนวัตกรรม (Innovation) รวมทั้งการนำกรอบแนวคิดของรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นการออกแบบอาคารแบบ Green building เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ดร.ภาสกรกล่าว

อย่างไรก็ดี สถาบันไอโอที (IoT Institute) ได้แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วย 1.Open labs 2. IoT Design Centre 3. Office 4. Exhibition 5. Auditorium 6. Common Area โดยคาดว่าในปลายปีนี้จะได้เห็นโครงสร้างในส่วนของOpen labs

โดยระหว่างนี้ depa ได้มีการดึงนักลงทุน รวมถึงสถาบันวิจัยใหญ่ๆ เพื่อให้เกิดการทำวิจัยที่ไม่เคยมีในประเทศไทย เกิดการ Transform คนในพื้นที่เพื่อขยายต่อไปยังสถาบันการศึกษาและทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังได้รับสิทธิพิเศษจากการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น Smart Visa การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้า เครื่องจักรวัตถุดิบ เงินสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการลงทุนการวิจัย สิทธิการเช่า ที่ดินราชพัสดุ ระบบ One-stop Service เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดิจิทัล ปาร์ค ไทยแลนด์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีพื้นที่ติดกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในส่วนของจิสด้าจะเป็นพื้นที่อินโนเวชั่นปาร์คที่มีหลายส่วนงานที่จะต้องเชื่อมโยงและพัฒนาร่วมกันอย่างแน่นอน เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย จะเห็นได้ว่า ด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี เครื่องมือและกลไกต่างๆ ของทั้ง 2 หน่วยงาน แม้จะต่างกระทรวงกัน แต่เราก็สามารถบูรณาการงานร่วมกันได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุน ผู้ประกอบการ จากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนทุกหน่วย ซึ่งจะมีการประสานความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อเปิดประตูบ้านให้กับนักลงทุนฯ ได้ขยายฐานมาสู่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ จิสด้ายังได้เปิดบ้านต้อนรับคณะผู้บริหารของดีอี และร่วมพาคณะสื่อมวลชนไทย-จีนทัวร์อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 120 ไร่ ทำให้เห็นความพร้อมในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เช่น การมีศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ หรือ SOAR ซึ่งเป็นหนึ่งใน Center of Excellence ของจิสด้า ที่มีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบินและเทคโนโลยีดาวเทียมของไทย โดยศูนย์ดังกล่าวมีความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานชั้นนำ ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ ระบบวางแผนถ่ายภาพด้วยดาวเทียมสำรวจโลก ระบบวิเคราะห์และบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ หรือ GISAVIA รวมถึง การพัฒนาระบบบริหารจัดการกิจกรรมบั้งไฟและโคมลอย หรือบำเพ็ญ

ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนาต่อยอดจากระบบ GISAVIA เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบนำทางด้วยดาวเทียมหรือ GiNNo ที่จะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งสร้างแรงบันดาลใจ และจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ นักพัฒนานวัตกรรม นักลงทุน นักธุรกิจ จากไทยและต่างประเทศ และเป็นหน่วยที่เชื่อมโยงการใช้ข้อมูลกับ National CORS Data Center เพื่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ GNSS ด้วยการต่อยอดให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้การระบุตำแหน่งความแม่นยำสูง โดยมุ่งเน้นในด้าน Smart Agriculture, Mobile Mapping และ Smart Transportation นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการสาธิตเทคโนโลยีโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และขยายผลต่อไปยังอุตสาหกรรมด้านการคมนาคมขนส่ง การจัดทำแผนที่มีความถูกต้อง การวางผังเมืองและเขตเศรษฐกิจ และการเกษตร อีกด้วย