เมื่อน้ำจรดฟ้าสีครามที่ชิงไห่

0
173

จากเมืองซีอานเดินทางสู่เมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ คำว่าชิง แปลว่า เขียว คำว่าไห่ แปลว่า ทะเล รวมกันเป็น “ทะเลสีเขียว” ทำไมเป็นอย่างนั้น? ในเมื่อชิงไห่อยู่ห่างไกลทะเล อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2,300 เมตร โปรดติดตามอ่านต่อไป

มณฑลนี้ตั้งอยู่บริเวณหลังคาโลกบนที่ราบสูงชิงไห่-ธิเบต ทั้งมณฑลมีเนื้อที่ 721,000 ตร.กม. ถือว่าเป็นมณฑลที่มีเนื้อที่ใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ

นางจาง หลี รองผู้ว่าการมณฑลชิงไห่ ให้เกียรติต้อนรับคณะสื่อไทยใน CIPG TRIP ท่านบอกว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้มาเยือนชิงไห่เมื่อเดือนสิงหาคม 2016 มอบภารกิจสำคัญแก่ผู้บริหารมณฑลนี้คือ การอนุรักษ์ต้นน้ำกับการพัฒนาธรรมชาติกับคน ท่านให้ข้อมูลว่าในพื้นที่กว่า 7 แสนตารางกิโลเมตรนั้น 50% เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ “ซันเจียงหยวน” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำ 3 สายคือ The Three Great Rivers แม่น้ำฮวงโห หรือแม่น้ำเหลือง แยงซีเกียง และแม่น้ำหลานชาง (หรือล้านช้าง ซึ่งก็คือ แม่น้ำโขงเมื่อไหลออกจากจีนเข้าพม่า )

ชิงไห่มีประชากร 6 ล้านคน ประกอบด้วย 6 ชนเผ่า คือ ฮั่น หุย(นับถืออิสลาม) มองโกล ซ่าลา ทิเบต และถู่ (ธิเบตและถู่นับถือศาสนาพุทธ วชิรยาน) เรียกว่าเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรม ชิงไห่มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ใหญ่สุด 1 ใน 4 ของประเทศ เลี้ยงแกะมากอันดับ 3 ของจีน ช่วงสองวันที่ชิงไห่จึงได้กินเนื้อแกะเกือบทุกมื้อ แต่ที่เซอร์ไพรส์คือ “เนื้อจามรี” ในมื้อเย็นที่เจ้าบ้านเลี้ยงต้อนรับซึ่งขอบอกว่าอร่อยมาก

นางจาง หลี บอกว่านอกจากการอนุรักษ์แล้วชิงไห่ยังมีการพัฒนาพลังงานทดแทน ฟาร์มโซลาเซล พลังงานลม เกษตรอินทรีย์ ส่วนจุดเด่นจุดขายของชิงไห่คือ “ทะเลสาปน้ำเค็ม”ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ขนาดพื้นที่ 4,500 ตารางกิโลเมตร มีระยะทางรอบทะเลสาบ 30 กิโลเมตร ด้วยวิวทิวทัศน์อันสวยงามจึงมีคำพูดว่า“เดินทางมาวันเดียว ประทับใจไปตลอดชีวิต”

นายซุน ลี่จวิน รองอธิบดีกรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติซานเจียงหยวน ให้ข้อมูลว่า 17% ของต้นแม่น้ำโขงเกิดที่มณฑลชิงไห่ “ขอให้เราเป็นผู้ร่วมชะตากรรมพัฒนาและก้าวหน้าไปพร้อมๆกัน” ซันเจียงหยวนคือต้นแม่น้ำ 3 สาย เป็นแทงก์น้ำแห่งประเทศจีน รัฐบาลเห็นว่าการปกป้องที่นี่เกี่ยวข้องกับประชาชน 700 ล้านคน ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ

พื้นที่ 395,000 ตารางกิโลเมตร คือเนื้อที่ที่กรมดูแล เฉพาะอุทยานมีพื้นที่ 152,300 ตารางกิโลเมตร ในเขตอุทยานมี 12 หมู่บ้าน ประชากร 66,400 คนอาศัยอยู่ เฉลี่ยคนละ 2 ตารางกิโลเมตร

สัตว์สัญลักษณ์คือ “เสือดาวหิมะ” เดิมใกล้จะสูญพันธุ์ ตอนนี้ฟื้นฟูขึ้นมาก เป็นสัตว์อนุรักษ์อันดับหนึ่ง ขณะที่แผนอนุรักษ์ 4 ด้านได้รับการอนุมัติจาก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยตรง ผลงานหลายอันเป็นตัวอย่างแก่อุทยานอื่นๆของจีน

นายซุนบอกว่ามีการประเมินผลงาน 4 ด้าน คือ

1.ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นปีละ 6% และเป็นน้ำที่มีคุณภาพสูง

2.พื้นที่สีเขียวเพิ่ม 11% เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน หลายปีที่ผ่านมาระบบนิเวศน์ฟื้นฟูอย่าวรวดเร็ว ฝนตกมากขึ้น

3.เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ พืชพันธุ์ สัตว์ป่า มีสัตว์ที่เห็นกว่า 1.8 แสนตัว ประมาณ 7 หมื่นตัวเป็นเลียงผาพันธุ์ธิเบต จามรีป่า 1.7หมื่นตัว กวางและวัวป่า 1 หมื่นตัว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2017 เขตอุทยาน“เขอเข่อซีหลี่”ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก

4. ประชากรในเขตอุทยานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น เพราะกรมให้เงินอุดหนุน 1,800 หยวน/ครอบครัว/เดือน เหมือนจ้างดูแลอุทยาน ทางมณฑลใช้งบรวมปีละ 38,000 ล้านหยวน (ประมาณ 170,240 ล้านบาท) พร้อมหลักประกันอื่นๆเช่น การแพทย์ เครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐาน เป้าหมายภายในสิ้นปีนี้จะให้ประชากรของชิงไห่พื่นจากเส้นความยากจน ถือเป็นภารกิจพิเศษของกรม

“ซันเจียงหยวนหากถูกทำลายไม่ฟื้นฟูก็ยากจะกลับมา จึงต้องป้องกันไม่ให้ถูกทำลาย หลักการที่ล้ำสมัยคือมนุษย์กับธรรมชาติต้องอยู่อย่างสมดุล เพราะมีพื้นที่ป่าดงดิบ หากไล่คนออกไม่มีปศุสัตว์อาจไม่ดี หากอยู่มานานจนสมดุลจะไม่ไล่คนออก เช่น เยลโลสโตนเป็นบทเรียนความผิดพลาด พอไล่คนออกแล้วเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง ต้องให้คนลดพฤติกรรมการทำลายป่า อนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิตไปช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งเราทำได้สำเร็จ” เป็นคำพูดของนายซุนที่กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

หลังรับฟังข้อมูลอย่างเต็มที่แล้วคณะของเราเดินทางจากเมืองซีหนิงสู่ทะเลสาบน้ำเค็มใหญ่ที่สุดของจีน ทราบว่าระยะทางเพียง 150 กิโลเมตรแต่การวิ่งไต่ระดับทำให้ใช้เวลานานถึง 3 ชั่วโมง สภาพสองข้างทางมีภูเขา ทุ่งหญ้า ท้องฟ้าสีครามสดใสเห็นก้อนเมฆสวยงาม เห็นทุ่งดอกไม้สีเหลืองอร่ามที่ปลูกเป็นแปลงๆริมทะเลสาบ เขาบอกว่าคือ “ดอกคาโนล่า”เอาไปสกัดทำน้ำมันพืช ใกล้ๆทุ่งดอกไม้จะมีรังเลี้ยงผึ้งและมีขวดน้ำผึ้งตั้งวางขายแก่นักท่องเที่ยวด้วย

ที่ทะเลสาบชิงไห่ไม่ได้ชิมว่าเค็มเหมือนน้ำทะเลไหม แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นน้ำกร่อย มีปลาชนิดเดียวคือปลาหวง เจ้าหน้าที่บอกว่าชาวบ้านไม่จับกินเพราะถือว่าเป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ แต่ข้อมูลที่อ่านเจอว่าเป็นแหล่งผลิตปลาหวงไร้เกล็ด สินค้าพิเศษของท้องถิ่นที่ที่ส่งขายตลาด

อากาศช่วงสายๆของกลางเดือนกรกฎาคมที่เราไปเยือนทะเลสาบชิงไห่เย็นกำลังดี แต่พอเที่ยงและบ่ายเริ่มร้อนนิดๆใส่เสื้อบางๆตัวเดียวกำลังสบาย คนท้องถิ่นมาเที่ยวกันเยอะ สังเกตุว่าสุภาพสตรีทั้งสาวและไม่สาวจะต้องมีผ้าคลุมไหล่มาด้วยคนละผืน สีสันฉูดฉาดลายสวยสะดุดตา ตอนแรกนึกว่าเอามาบังแดด แต่ที่แท้เอามาประกอบการถ่ายรูปสวยๆนั่นเอง

ตอนที่รถวิ่งเลียบทะเลสาบเห็นมีคู่บ่าวสาวถ่ายรูป 1-2 คู่ แต่กลับถึงไทยอ่านเจอว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยบริหารจัดการชิงไห่เพิ่งออกประกาศห้ามถ่ายรูปคู่บ่าวสาวที่ทะเลสาบชิงไห่ด้วยเหตุผลว่า “ไม่เหมาะสม” นอกจากนี้ยังห้ามเว็บไซต์ท่องเที่ยว บริษัททัวร์ มัคคุเทศก์ ทำการโฆษณาหรือพานักท่องเที่ยวไปชมวิวในจุดที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและดูแลระบบนิเวศให้สมบูรณ์

จากเมืองซีหนิงมาถึงทะเลสาบรวมเวลาไป-กลับ 6 ชั่วโมง ถามทุกคนว่าคุ้มเวลาเดินทางไหม ประทับใจไหม สมกับคำโฆษณาที่ทางเจ้าบ้านบอกเอาไว้หรือไม่ คำตอบส่วนใหญ่คือไม่ถึงกับประทับใจมากเพราะคาดหวังไว้สูงกว่านี้ อาจจะเพราะช่วงนั้นที่เราไปอากาศไม่หนาวเย็น ไม่เห็นหิมะบนยอดเขา ไม่เห็นฝูงนกที่บอกว่ามีเป็นหมื่นเป็นแสนตัว ไม่ได้เห็นฝูงแกะและจามรีจำนวนมากๆในทุ่งปศุสัตว์ ก็เลยไม่ว้าว

แต่หากมีโอกาสก็เชื่อว่าทุกคนอยากกลับไปเยือนในบรรยากาศที่แตกต่างเพื่อสร้างความประทับใจไปตลอดชีวิต

ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน