ร้อยพลัง รังสรรค์วิถี : ก้าวนี้และก้าวต่อไปบนด้ามขวาน

0
231

กองทุนสื่อฯ ผนึกกำลังจุฬาฯ กับภาคส่วนท้องถิ่น

ขับเคลื่อนความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เกิดดุลยภาพในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ส่งเสริมศักยภาพชุมชนด้วยสื่อภาคประชาชน

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุติธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการและแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ร้อยพลัง รังสรรค์วิถี : ก้าวนี้และก้าวต่อไปบนด้ามขวาน” ร่วมกับนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยนายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ที่ปรึกษากลุ่มหัวใจเดียวกันที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวและสังคม รวมถึงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศเพื่อการพัฒนาสื่อเป็นพันธกิจหลักของกองทุนสื่อฯ นอกจากบริบทของภารกิจงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คือการเชื่อมประสานนักวิชาการและนักวิชาชีพเข้าหากันด้วยการสร้างพื้นที่ตรงกลางให้เกิดการพัฒนาแลกเปลี่ยนหล่อหลอมองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบของสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทของสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิด การหนุนเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์งานสื่อที่จะทำให้สังคมไทยรู้เท่าทันการใช้สื่อ ให้เกิดพลังในเชิงบวก

โครงการนี้มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความเข้าใจในคุณค่าความงดงามของความหลากหลายทางวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ผ่านประเด็นวิจัยที่ท้าทาย และมุมมองความรู้ใหม่ในแง่มุมที่น่าสนใจ โดยอาศัยสื่อสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ เป็นตัวกลาง ในการนำเสนอและเผยแพร่กิจกรรมของโครงการที่มีทั้งรูปแบบการอบรมการผลิตสื่อ การสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์สารคดีที่จะช่วยสะท้อนแนวคิดและวิธีการสร้างสรรค์งานจากคนในพื้นที่ และมีการสรุปข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้รวบรวมจัดทำเป็น E-Book เพื่อต่อยอดผลงานต่อไปในอนาคต กิจกรรมทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา ๑ ปี ของการดำเนินงานจากนี้ไป  

ศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโครงการ “ร้อยพลัง รังสรรค์วิถี : ก้าวนี้และก้าวต่อไปบนด้ามขวาน” มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความรู้ด้านคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมในบริบทต่าง ๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้  ผ่านการศึกษาวิจัย ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องทางวิชาการหลากหลายรูปแบบ อาทิ การอบรมให้ความรู้  การจัดทำบันทึกเรื่องราว  การเล่าเรื่องด้วยภาพ  และการจัดทำคลิปวีดีโอ/ภาพยนตร์สารคดีสั้น โดยอาศัยสื่อสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ  เป็นเครื่องมือเผยแพร่สู่สาธารณะ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ การขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้ถือเป็นการเปิดมิติความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา ในฐานะภาควิชาการส่วนกลาง กับกลุ่มหัวใจเดียวกัน ซึ่งเป็นภาคีสื่อภาคพลเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้และความเข้าใจร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนได้ต่อไป

คุณชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ที่ปรึกษากลุ่มหัวใจเดียวกัน และหัวหน้าภาคีสื่อที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ต้องการให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเกิดความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และพร้อมที่จะก้าวเดินไปพร้อมกัน โดยมีพื้นฐานแนวคิดเรื่องวิถีความหลากหลายบนเส้นทางพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ ด้วยการส่งเสริมทักษะการเป็นนักวิจัย การเป็นนักสื่อสารภาคพลเมือง ให้เกิดมุมมองในการทำงาน และเพิ่มทักษะประสบการณ์ด้านการเขียน การถ่ายภาพ การทำคลิปสารคดีเพื่อถ่ายทอดความคิดสู่สาธารณะ และต่อยอดการเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้น  

ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ยังกล่าวด้วยว่า “จุฬาฯ มุ่งหวังว่าการดำเนินงานร่วมกันครั้งนี้ นอกเหนือจากมิติด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีที่จะนำเสนอความงดงามในรูปแบบต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ผ่านเยาวชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ไปสู่สาธารณชน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงพลังของการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ที่จะถูกทำให้ปรากฏอย่างมีหลักการ เป็นระบบ และส่งผลอย่างกว้างขวางและมีทิศทาง มีพลังความร่วมมือจากภาคส่วนวิชาการและส่วนภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน