วางแผนเดินทางร่วมศตวรรษใหม่ ความร่วมมือจีน – ไทย

0
20

วางแผนเดินทางร่วมศตวรรษใหม่ ความร่วมมือจีน – ไทยเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่

การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 ได้อภิปรายและเห็นชอบ “ข้อเสนอของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรื่องการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 14 และเป้าหมายการพัฒนาปี 2035” ซึ่งเป็นการวาดพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในห้าปีข้างหน้าและกำหนดเป้าหมายระยะยาวในปี 2035 ได้มีการเสนอมาตรการเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ และพิมพ์เขียวอันยิ่งใหญ่สำหรับการพัฒนาของจีนในอนาคต ในงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 17 และการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนจีน – อาเซียนที่จัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิงประธานาธิบดีจีนได้แนะนำเพื่อน ๆ จากทุกสาขาอาชีพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยว่าจีนจะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ในการสร้างประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยในปีหน้า ความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนมีอนาคตจะกว่างใหญ่ขึ้น

จีนกำลังจะเริ่มเดินทางครั้งใหม่ สาระสำคัญคือ “ใหม่” สามประการ ได้แก่ ขั้นตอนการพัฒนาใหม่ แนวคิดการพัฒนาใหม่ และรูปแบบการพัฒนาใหม่

“ขั้นตอนการพัฒนาใหม่” หมายความว่าหลังจากจีนได้สร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน บรรลุเป้าหมายร้อยปีวาระแรกแล้ว จีนจะยังคงใช้ประโยชน์จากโมเมนตัมในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างรอบด้านและก้าวไปสู่เป้าหมายร้อยปีวาระที่สอง นับเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการพัฒนาของจีน
ในปัจจุบัน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศที่ซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบททดสอบอย่างกะทันหันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 คณะกรรมการกลางพรรคซึ่งมีประธานสีจิ้นผิงเป็นแกนนำได้ตอบสนองอย่างสุขุมรอบคอบและเอาชนะความยากลำบาก การสร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้านของจีนใกล้เป็นจริงแล้ว GDP ต่อหัวของจีนเกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐและจำนวนคนจนในช่วงห้าปีที่ผ่านมาลดน้อยลงปีละมากกว่า 11 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ ปัญหาความยากจนจะได้รับการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ จีนได้สร้างระบบประกันสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมผู้คนมากกว่า 1,300 ล้านคนและประกันเบี้ยยังชีพคนชราขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมเกือบ 1,000 ล้านคน

จีนได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือเพื่อร่วมกันสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” กับเกือบ 140 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ 30 กว่าองค์กรและได้ลงทุนโดยตรงมากกว่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศที่เกี่ยวข้อง จีนได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวใหม่ ภายในปี 2035 GDP ต่อหัวจะไปถึงระดับของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับปานกลาง กลุ่มที่มีรายได้ปานกลางจะขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญและความมั่งคั่งร่วมกันของปวงชนจะมีความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัด ประชาชาติจีนจะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ในการสร้างประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยอย่างรอบด้านและก้าวไปสู่เป้าหมายครบรอบร้อยปีวาระที่สอง
“แนวคิดการพัฒนาใหม่” คือแนวคิดนวัตกรรม สมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดกว้างและการแบ่งปัน ยึดมั่นในแนวคิดการพัฒนาใหม่เป็นหนึ่งในหลักการที่ต้องปฏิบัติตามในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในช่วง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 14”

การพัฒนาเป็นรากฐานและกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาทั้งหมด เข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการพัฒนา จีนจะยึดมั่นในนวัตกรรมในการขับเคลื่อนความทันสมัยโดยรวมและใช้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของตนเองเป็นส่วนสนับสนุนเชิงกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลโดยรวม ยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า น้ำใสเขาเขียวเป็นภูเขาเงินภูเขาทอง และเร่งส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ยกระดับคุณภาพและเสถียรภาพของระบบนิเวศและการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรโดยรวม ยึดมั่นในการดำเนินการเปิดประเทศให้กว้างมากขึ้นและลงลึกมากขึ้นโดยอาศัยข้อได้เปรียบของตลาดขนาดใหญ่ของจีนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและบรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน ยึดมั่นในจุดยืนที่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ยึดมั่นในทิศทางของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ยึดมั่นในหลักการพัฒนาเพื่อประชาชน การพัฒนาที่อาศัยประชาชน ผลการพัฒนาจะแบ่งปันโดยประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เพิ่มความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของประชาชนและทำให้ความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนกลายเป็นจริง แนวคิดการพัฒนาใหม่ใช้นวัตกรรมเป็นแรงผลักดันอันดับแรก การพัฒนาที่สมดุลเป็นลักษณะภายใน สีเขียวเป็นรูปโฉมภายนอก การเปิดกว้างเป็นเส้นทางที่จำเป็นต้องผ่าน และการแบ่งปันเป็นจุดประสงค์พื้นฐาน การส่งเสริมเศรษฐกิจของจีนจากการเติบโตสูงไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง
“รูปแบบการพัฒนาใหม่” คือการใช้วงจรภายในประเทศเป็นตัวหลักและวงจรคู่ภายในและต่างประเทศเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ทางเลือกเชิงกลยุทธ์นี้เอื้อต่อการเพิ่มความยืดหยุ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและยังเอื้อต่อการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

จีนจะยึดมั่นในพื้นฐานเชิงกลยุทธ์ในการขยายอุปสงค์ภายในประเทศและปลดล็อกวงจรเศรษฐกิจของประเทศ การพึ่งพาการค้าต่างประเทศของจีนลดลงจาก 67% ในปี 2006 เหลือเกือบ 32% ในปี 2019 และอัตราส่วนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ลดลงจาก 9.9% ในปี 2007 เหลือไม่ถึง 1% ในขณะนี้ นับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 อุปสงค์ภายในประเทศของจีนมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 100% ในรอบ 7 ปี และการบริโภคในประเทศกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในกระบวนการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบวงจรคู่ ความเป็นอิสระและคุณภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญ การสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่สอดคล้องกับความต้องการของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนและการมีส่วนในการผลักดันพัฒนาที่มีคุณภาพสูง จีนจะดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พยายามขยายอุปสงค์ในประเทศให้มากขึ้นทำให้การผลิต การกระจาย การไหลเวียนและการบริโภคพึ่งพาตลาดในประเทศมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการปรับตัวของระบบอุปทานให้เข้ากับอุปสงค์ในประเทศ และสร้างอุปทานที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ ความสมดุลแบบไดนามิกในระดับที่สูงขึ้น

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำว่าการสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ของจีนไม่ได้หมายความว่าเป็นวงจรเดียวภายในประเทศแบบปิด แต่เป็นวงจรคู่ที่เปิดกว้างทั้งภายในและต่างประเทศที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BRICS ครั้งที่ 12 การประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำเอเปคครั้งที่ 27 การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ครั้งที่ 15 และงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 17 เป็นต้น ประธานาธิบดีเน้นย้ำว่าในโลกปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจไม่สามารถย้อนกลับได้และไม่มีประเทศใดสามารถปิดประเทศแล้วพัฒนาตัวเอง จีนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกและระบบระหว่างประเทศอย่างกลมกลืนกันจนไม่อาจจะแยกจากกันได้ ภายใต้รูปแบบการพัฒนาใหม่ ศักยภาพทางการตลาดของจีนจะได้รับการแสดงออกมาอย่างเต็มที่เพื่อสร้างอุปสงค์มากขึ้นสำหรับทุกประเทศในโลก จีนจะเปิดประเทศกว้างมากขึ้น แบ่งปันโอกาสในการพัฒนากับประเทศอื่น ๆ ความร่วมมือกับต่างประเทศของจีนจะลึกซึ้งยิ่งขึ้นและบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศอื่น ๆ ในโลก ในปี 2020 รายการห้ามต่างชาติลงทุนในจีนได้ลดลงจาก 40 ข้อ เป็น 33 ข้อ และเขตนำร่องการค้าเสรีจะเพิ่มขึ้นจาก 18 แห่ง เป็น 21 แห่ง งานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติของจีนครั้งที่สามจัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้และจีนได้ลงนามในข้อตกลงและเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในภูมิภาค (RCEP) จะเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในการยืนหยัดในการเปิดกว้างของจีน

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ในเวลา 45 ปีที่ผ่านมา จีนและไทยเคารพและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกัน เสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันทางการเมือง ขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อประชาชนทั้งสองประเทศ ในเดือนกรกฎาคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้โทรศัพท์พูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีของไทยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน มีส่วนสำคัญในการผลักดันการบรรลุฉันทามติใหม่ แรงขับเคลื่อนใหม่และแนวทางใหม่ในการส่งเสริมการพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีนและไทยต่อไป ในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญกับภารกิจที่เหมือนกันในการยึดมั่นผลสำเร็จของการต่อสู้กับโควิด-19 และการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ จีนได้เข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการพัฒนาโดยใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่และสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ ขยายการเปิดกว้างอย่างไม่หยุดยั้ง เพิ่มผลการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศและผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตนและช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญใหม่สำหรับความร่วมมือจีน – ไทย

ขนาดตลาดใหญ่ของจีนจะส่งผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านเช่นไทยก่อนประเทศอื่น ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยเพิ่มขึ้น 9.6% คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์สะสมของจีนจะมากกว่า 22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐซึ่งจะทำให้มีตลาดส่งออกขยายกว้างขึ้นสำหรับประเทศเพื่อนบ้านเช่นไทย เมื่อเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จีนกำลังสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่อย่างแข็งขัน เปิดกว้างสู่โลกภายนอกและกำลังเร่งขยายตลาดใหม่ สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่และสร้างแรงผลักดันใหม่ เรายินดีต้อนรับฝ่ายไทยที่จะแบ่งปันผลสำเร็จของการปฏิรูป เปิดประเทศของจีนและผลักดันการพัฒนาเชิงลึกของความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีนและไทย

การเร่งสร้างสรรค์ “สายแถบและเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูงจะมีส่วนช่วยรับมือกับความท้าทายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โครงการรถไฟจีน-ไทยและโครงการความร่วมมือที่สำคัญอื่น ๆ ในความริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” ที่ทั้งสองประเทศร่วมกันพัฒนานั้นมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์เอาชนะผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งของความร่วมมือจีน-ไทย การส่งเสริมความร่วมมือที่มีคุณภาพสูงของ “สายแถบและเส้นทาง” เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปิดกว้างในระดับที่สูงขึ้นของจีนและเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน จีนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อขยายความร่วมมือในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ส่งเสริมการเชื่อมต่อเชิงลึกของ “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” กับเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊าเพื่อสร้างจุดเด่นใหม่ในการสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” ร่วมกันเร่งความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง และ “เส้นทางใหม่ทางบก – ทะเล” ผลักดันความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขงและยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามลุ่มน้ำส่งเสริมซึ่งกันและกัน
จีนและไทยมีศักยภาพที่ดีในการขยายความร่วมมือในเศรษฐกิจใหม่ เช่นเศรษฐกิจดิจิทัล การแพร่ระบาดของโควิด-19เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส เศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการสร้างหลักประกันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากสถานการณ์และข้อกำหนดของการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ-19ภายใต้ภาวะปกติใหม่ จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับไทยในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น 5G ปัญญาประดิษฐ์และคลาวด์คอมพิวติ้งและใช้โอกาสจากจีนในเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ อุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ รถยนต์พลังงานใหม่ ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบินและอวกาศ อุปกรณ์ทางทะเล เป็นต้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 14 ให้เกิดประโยชน์ และบ่มเพาะ ค้นหาโอกาสใหม่ของความร่วมมือจีน – ไทย และเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ต่อไป

อาศัยแรงส่งของลม ผลักดันเราไปสู่จุดที่สูงมากขึ้น ยืนอยู่ที่จุดเริ่มต้นใหม่ของการพัฒนา ขอให้เราร่วมแรงร่วมใจทำงานและจับมือกันก้าวต่อไป คว้าโอกาสใหม่ในสถานการณ์ใหม่ เริ่มการเดินทางครั้งใหม่ของความร่วมมือจีน – ไทยและเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนา