5 ไฮไลท์ ความสำเร็จโครงการอวกาศจีน ในรอบปี 2021

0
24

5 ไฮไลท์ ความสำเร็จโครงการอวกาศจีน ในรอบปี 2021

ปี 2021 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีแห่งความก้าวหน้าทางด้านโครงการอวกาศของจีน  เป็นการกลับมาทวงบัลลังค์ทางด้านโครงการอวกาศอีกครั้ง ที่ไม่ธรรมดาจริงๆ   ทางผู้เขียนจึงได้รวบรวม 5 ไฮไลท์ ความสำเร็จด้านโครงการอวกาศของจีนมาไว้ดังต่อไปนี้

1.ความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีอวกาศจีน “เทียนกง” เพื่อปูทางไปสู่โครงการสำรวจดวงจันทร์ และ ดาวอังคารในอนาคต

ตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ทีมนักบินอวกาศจากภารกิจเสินโจว-13 ได้บรรลุภารกิจหลักในการก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกงอย่างเต็มรูปแบบ มีความก้าวหน้าดำเนินไปด้วยดี และเตรียมเดินทางกลับสู่โลกในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้  และยังได้สร้างสถิติถึง 2 เรื่องด้วยกัน คือ การที่ Wang Yaping นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน ได้รับมอบหมายให้ออกปฏิบัติภารกิจ spacewalk และการที่ทีมนักบินอวกาศอยู่ปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศต่อเนื่องยาวนานที่สุดถึง 180 วัน  โดยภารกิจก่อสร้างสถานีอวกาศเทียนกงนับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาของโครงการเที่ยวบินอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน โดยภารกิจการก่อสร้างสถานีอวกาศจะยังคงดำเนินต่อไป พร้อมแผนการก่อสร้างห้องปฏิบัติการบนอวกาศ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2022 นี้

2.ภารกิจฉางเอ๋อ 6-7-8 เพื่อเก็บตัวอย่าง และ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรณ์บนดวงจันทร์

ฉางเอ๋อ โปรแกรม” (Chang’e Program) คือ โครงการสำรวจดวงจันทร์ขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เป็นภารกิจที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2020   มีเป้าหมายหลักในการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมายังโลก เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรณ์บนดวงจันทร์ และเตรียมความพร้อมสำหรับฐานวิจัยบนดวงจันทร์ และเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งกว่า ในการส่งมนุษย์ชาวจีนไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ภายในปี2030   นอกจากนี้ยังเป็นภารกิจที่ทำให้จีน กลายเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์

โดยฉางเอ๋อ-6″ จะถูกส่งไปเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์กลับมายังโลกเพิ่มเติม ในขณะที่ “ฉางเอ๋อ-7” จะเป็นการปฏิบัติการที่มุ่งเน้นเรื่องการสำรวจพื้นที่บนดวงจันทร์ ในขณะที่ “ฉางเอ๋อ-8” จะเป็นปฏิบัติภารกิจทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับฐานวิจัยบนดวงจันทร์ คาดการณ์ว่าภารกิจฉางเอ๋อ6-7 จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2025 และคาดการณ์ว่าแผนการสร้างสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศบนดวงจันทร์จะแล้วเสร็จในปี2035

3.ภารกิจสำรวจดาวอังคารกับยาน “จู้หรง”

จีนนับเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐฯ ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดและควบคุมยานสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคารได้สำเร็จ  โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา ยานจู้หรงได้ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร ในบริเวณที่ราบยูโทเปีย พลานีเทีย ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เชื่อว่าเคยเป็นภูเขาไฟ อายุกว่า 3000 ล้านปี  จากการสำรวจเบื้องต้นพบหลักฐานทางภูมิศาสตร์บ่งชี้การถูกกัดเซาะจากลมและน้ำ และหลักฐานบ่งชี้การมีปฏิสมพันธ์กับ “น้ำเค็ม” มาในอดีต  ซึ่งการค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติและวิวัฒนาการของพื้นผิวดาวอังคารมากขึ้น

4.ความคืบหน้าโครงการดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (BDS3)

ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว-3 นับเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการระบุพิกัด, นำทาง และ บอกเวลา สามารถให้บริการได้หลากหลาย และได้มีการเปิดใช้ระบบให้ผู้ใช้งานจากทั่วโลกไปแล้วตั้งแต่ 31 กรกฏาคม 2020 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรเพื่อเตรียมเปิดใช้ระบบสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม และปูทางสำหรับการใช้เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับในอนาคต

5.จรวดลองมาร์ช-8 วาย2 ทำลายสถิตินำส่งดาวเทียม 22 ดวงขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดลำเดียว

เราอาจเคยได้ยินโครงการทางเดียวกันไปด้วยกันมาบ้าง เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว  ไอเดียเดียวกันนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการขนส่งดาวเทียมหลายดวงในคราวเดียวกันเพื่อช่วยลดต้นทุนในการนำส่ง โดยจรวดรุ่น “ลองมาร์ช-8 วาย2” มีสมรรถนะในการขนส่งวัตถุอวกาศได้มากถึง 3 ตัน เป็นจรวดขนส่งดาวเทียมในวงโคจรระดับกลางและต่ำที่เป็นที่ต้องการค่อนข้างมากในตลาดปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการสำรวจพื้นโลกเป็นหลัก ซึ่งในภารกิจนี้จรวดลองมาร์ช-8 วาย2 ได้สร้างสถิติใหม่ในการขนส่งดาวเทียมมากที่สุดถึง 22 ดวงในการขนส่งครั้งเดียวอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ภายในแค่ 1 ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าด้านโครงการอวกาศของจีนได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการสร้างสถิติใหม่ให้กับวงการอวกาศจีนและวงการอวกาศโลกอย่างมากมาย  ทั้งนี้ด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์พัฒนา และ ลงทุนในการศึกษาอวกาศอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม  เป็นที่น่าตื่นเต้นว่าโครงการอวกาศของจีนอีกหลายๆโครงการในอนาคตจะสร้างประโยชน์ และสร้างสถิติใหม่อะไรให้กับโลกอีก ต้องติดตามกัน

เรื่อง โดย: จัสท์-ณภัทร ตัณฑิกุล   นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ พิธีกร  Podcast รายการ Sci เข้าหู โดยนิตยสารสาระวิทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ภาพจาก ซินหัว