บทวิเคราะห์: การซ้อมรบ “ริมแพค”

0
1

บทวิเคราะห์: การซ้อมรบ “ริมแพค”

การซ้อมรบของกลุ่มประเทศริมมหาสมุทรแปซิฟิก หรือ “ริมแพค” (RIMPAC) ประจำปี 2022 จะจัดขึ้นในน่านน้ำใกล้รัฐฮาวายและรัฐแคลิฟอร์เนีย ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 4 สิงหาคมนี้ สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ริมแพค” มุ่งอวดกำลังทหาร และเร่งเร้าการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์

“ริมแพค” เป็นการซ้อมรบทางทะเลนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่ริเริ่มโดยกองเรือที่ 3 ของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1971 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกันความปลอดภัยด้านการเดินเรือของบรรดาประเทศริมมหาสมุทรแปซิฟิก เดิมที “ริมแพค” จัดขึ้นปีละครั้ง โดยเจาะจงต่อกองเรือแปซิฟิกของสหภาพโซเวียต หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 สหรัฐฯ จึงเปลี่ยนมาจัด “ริมแพค” สองปีครั้ง ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งที่ 28

มีรายงานว่า สหรัฐฯ ได้เชิญหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญจากทั่วโลกมาเข้าร่วม “ริมแพค” ประจำปี 2022 ซึ่งรวมถึง “กลุ่ม 4 ประเทศ” ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตลอดจนอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และแคนาดาจากนาโต้ นอกจากนี้ ยังมีเม็กซิโก เปรู ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เดนมาร์ก เยอรมนี อิสราเอล นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา และตองกา จะเข้าร่วม “ริมแพค” ปีนี้ สำหรับ 10 ประเทศอาเซียน มี 6 ประเทศจะเข้าร่วม “ริมแพค” ครั้งนี้ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ที่น่าสังเกต คือ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะเข้าร่วม “ริมแพค” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปีนี้เป็นครั้งที่ 17 ที่เกาหลีใต้เข้าร่วม “ริมแพค” ซึ่งเกาหลีใต้จะจัดส่งกำลังทหารขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ ตลอด 51 ปีที่ผ่านมา มีประมาณ 30 ประเทศเคยเข้าร่วม “ริมแพค” ในจำนวนนี้ สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลียเป็น 3 ประเทศที่ได้เข้าร่วม “ริมแพค” ครบทุกครั้ง

ทางการทหารสหรัฐฯ ระบุว่า “ริมแพค” ประจำปี 2022 จะรวมถึงการฝึกซ้อมโดยเน้นที่การฝึกสะเทินน้ำสะเทินบก การยิงปืน ขีปนาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ และการป้องกันทางอากาศ รวมถึงการปฏิบัติการต่อต้านโจรสลัด ปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิด การกำจัดอาวุธยุทโธปกรณ์ และปฏิบัติการดำน้ำและกู้ภัย เป็นต้น เพื่อยับยั้งและเอาชนะการรุกรานจากมหาอำนาจทั่วทุกเขตแดนและทุกระดับของความขัดแย้ง

มีนักสังเกตการณ์ชี้ให้เห็นว่า การซ้อมรบที่กินเวลาเดือนกว่าครั้งนี้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ โดยมีกำลังพลจำนวนกว่า 25,000 นาย จาก 26 ประเทศเข้าร่วม และจะใช้เรือรบประมาณ 40 ลำ รวมทั้งเรือดำน้ำ 4 ลำ เครื่องบินกว่า 170 ลำ จาก 26 ประเทศดังกล่าวร่วมการฝึกซ้อม ยุทโธปกรณ์รวมถึงเครื่องบินรุ่นล่าสุด และอาวุธล้ำสมัยต่าง ๆ

เช่นเดียวกับการซ้อมรบอื่น ๆ ในโลก ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา “ริมแพค” นอกจากจะเน้นความสำคัญของการฝึกซ้อมทางยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีการต่อสู้แล้ว ยังบวกด้วยการแสดงให้เห็นกำลังทหาร และการประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย มีนักการทูตลงความเห็นว่า ภายใต้ภูมิหลังยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ “ริมแพค” ปี 2022 จัดจีนเป็นเป้าหมายต่อต้านอันดับแรก โดยถือสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันเป็นจุดสำคัญ แสดงให้เห็นบทบาทร่วมกันของพันธมิตรและหุ้นส่วนอย่างไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งยังพยายามให้มีสัมพันธภาพกับอินเดียและอาเซียน

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ในที่ประชุมแชงกรี-ลา ครั้งที่ 19 ที่ประเทศสิงคโปร์ พลเอก เว่ย เฟิ่งเหอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ตอกย้ำว่า สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องการประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ร่วมกันใช้ความพยายามปกป้อง

เขียนโดย โจว ซวี่ ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)