บทวิเคราะห์: กลไกความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์นับวันยิ่งกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั่วโลก

0
1

บทวิเคราะห์: กลไกความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์นับวันยิ่งกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั่วโลก

ปัจจุบัน กิจกรรมพหุภาคีต่างๆ ของกลไกความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์กำลังจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 22 ที่ผ่านมา ขณะกล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดการประชุมฟอรั่มอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของกลุ่มประเทศบริกส์ผ่านระบบวิดีโอนั้น นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้เสนอข้อริเริ่ม 4 ประการโดยพิจารณาจากความยากลำบากและความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งนับเป็นการเสนอแผนจีนอีกครั้งเพื่อผลักดันการพัฒนาและการยกระดับธรรมาภิบาลของทั่วโลก

ผู้คนจำนวนมากขึ้นได้สังเกตว่ากลไกความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์นับวันยิ่งกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั่วโลกมากขึ้น

กลไกความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์เริ่มต้นเมื่อปี 2006 สมาชิกปัจจุบันประกอบด้วยจีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้  ประชากรรวมของ 5 ประเทศบริกส์ครองสัดส่วนมากกว่า 40% ของประชากรโลก เมื่อปี 2021 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของทั้ง 5 ประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 23% ของเศรษฐกิจโลก ทุกวันนี้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาคของกลุ่มประเทศบริกส์มีบทบาทสำคัญต่อการบรรลุการฟื้นตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก

5 ประเทศบริกส์มีสภาพประเทศที่ต่างกัน แต่การแสวงหาความเป็นหุ้นส่วน ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนานั้นเหมือนกัน

ด้วยความพยายามร่วมกัน ความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์ได้ก่อรูปขึ้นเป็นโครงสร้างหลายระดับสำหรับการดำเนินความร่วมมืออย่างจริงจังในหลายสิบสาขา เช่น เศรษฐกิจและการค้า การคลัง การเงิน การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การต่อต้านยาเสพติด สถิติ การท่องเที่ยว คลังสมอง เมืองพี่น้อง ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น และอื่นๆ โดยมีการพบปะของผู้นำคอยชี้นำแนวทาง และได้รับการค้ำจุนจากการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยการประชุมผู้แทนระดับสูงด้านกิจการความมั่นคง และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นต้น

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่อำนวยประโยชน์แก่กันและได้ชัยชนะร่วมกันนั้นเป็นแรงผลักดันภายในที่ทรงพลังของความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์  ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ปริมาณเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศบริกส์ครองสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจทั่วโลก กลุ่มประเทศบริกส์ได้ขับเคลื่อนการจัดตั้งกลไกความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ แผนงานว่าด้วยการสำรองวัตถุปัจจัยเพื่อรับมือเหตุฉุกเฉิน ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนท่ามกลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ และกรอบความร่วมมือด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น กลุ่มประเทศบริกส์ได้กำหนด “ยุทธศาสตร์ว่าด้วยหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศบริกส์ 2025”  โดยถือการลงทุนทางการค้า การเงิน เศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสาขาสำคัญของความร่วมมือ ซึ่งได้จัดทำแผนงานที่ชัดเจนสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มบริกส์

ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับ 4 ประเทศในกลุ่มบริกส์ ได้แก่ รัสเซีย บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดมูลค่าการนำเข้าและส่งออก 1.31 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2021 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยรวมในช่วงเวลาเดียวกันของการค้าต่างประเทศของจีน 3.8 เปอร์เซ็นต์

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จีนได้เสนอรูปแบบความร่วมมือ “บริกส์+” เพื่อผลักดันการจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนบริกส์ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น และทำให้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากขึ้นสามารถได้รับประโยชน์จากรูปแบบดังกล่าว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างแข็งขันจากทุกฝ่าย การขยายความร่วมมือ “บริกส์+” ไม่เพียงแต่ตอบสนองความคาดหวังของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น หากยังยิ่งมีส่วนช่วยต่อการยกระดับความเป็นตัวแทนและอิทธิพลของประเทศกลุ่มบริกส์อีกด้วย เพื่อสร้างคุณูปการมากยิ่งขึ้นต่อสันติภาพและการพัฒนาของโลก

อิทธิพลและแรงดึงดูดใจของกลไกกลุ่มประเทศบริกส์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 5 ประเทศยึดมั่นในความเป็นธรรมและความยุติธรรม ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลโลกอย่างแข็งขัน และได้ออกเสียงของบริกส์ในประเด็นร้อนแรงระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงแต่ได้เพิ่มอำนาจวาทกรรมระหว่างประเทศของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น หากยังได้กลายเป็นเวทีสำคัญในการผลักดันความร่วมมือใต้-ใต้อีกด้วย ความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนมีสถานะและบทบาทที่ยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลไกพหุภาคีต่างๆ เช่น สหประชาชาติ กลุ่ม G20 ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น

หลังผ่านการพัฒนามาเป็นเวลา 16 ปี ความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์ได้กลายเป็นต้นแบบสำหรับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในการร่วมสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเอง ทั้งยังได้รับการอัพเกรดโครงสร้างจาก “การขับเคลื่อนสองล้อ” อันได้แก่ การเมือง+เศรษฐกิจ มาเป็น “การขับเคลื่อนสามล้อ” อันได้แก่ เศรษฐกิจการค้าการคลังการเงิน+ความมั่นคงทางการเมือง+การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนรูปแบบความร่วมมือ “บริกส์+” ให้คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง กลไกความร่วมมือบริกส์ได้เข้าสู่ขั้นตอนใหม่ทางประวัติศาสตร์  โดยได้รับการคาดหวังมากยิ่งขึ้นจากประชาคมระหว่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้ ปธน.สี จิ้นผิงของจีนจึงได้กล่าวชี้ว่า “ความหมายแห่งความร่วมมือบริกส์ได้ก้าวข้ามขอบเขตของทั้ง 5 ประเทศแล้ว กำลังแบกรับความคาดหวังของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนประชาคมระหว่างประเทศทั้งมวล”

เขียนโดย ลู่ หย่งเจียง ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)