ไทยเตรียมพร้อมเป็นประธานร่วมกับจีนจัดประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ปลายปี 2565

0
1

ไทยเตรียมพร้อมเป็นประธานร่วมกับจีนจัดประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ปลายปี 2565

ปลายปีพ.ศ. 2565 นี้ ไทยจะรับไม้ต่อจากเมียนมาร์ในการเป็นประธานร่วมกับจีนจัดประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง  ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง ครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา

โดยนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ได้แถลงถึงความร่วมมือระยะต่อไปใน 6 ด้านได้แก่ ด้านการเกษตร เช่น การส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร  พัฒนาพื้นที่การเกษตร ด้านทรัพยากรน้ำ ส่งเสริมความมั่นคงทางนิเวศวิทยา แบ่งปันข้อมูลด้านอุทกวิทยา  การรับมือน้ำท่วม ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล ด้านความร่วมมือทางอวกาศ  พัฒนาดาวเทียมสำรวจโลก  ด้านการฝึกอบรมให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยพัฒนาผู้มีความสามารถและมอบทุนการศึกษา  และด้านความร่วมมือด้านสาธารณสุข จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายา

นอกจากนี้ การประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างที่ไทยและจีนจะเป็นประธานร่วมในช่วงปลายปีพ.ศ. 2565 น่าจะมีการหารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในหลายด้าน อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19  การสร้างความมั่นคงทางอาหาร  การบริหารจัดการภัยพิบัติ   และแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น

จนถึงขณะนี้ จีนได้จัดตั้งกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างมูลค่า 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือกว่า 10,000 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่างๆ กว่า 500 โครงการใน 6 ประเทศทั่วทั้งอนุภูมิภาค

โดยประเทศไทยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขงล้านช้างเพื่อดำเนินโครงการการพัฒนาในสาขาต่างๆ กว่า 40 โครงการ รวมมูลค่ามากกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 400 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งเรื่องการเกษตร  สาธารณสุข  การบริหารจัดการน้ำ  การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ความเชื่อมโยง ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง  โดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19

การประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างในช่วงปลายปีนี้  จึงคาดว่าน่าจะเห็นบทบาทของไทยและจีนในฐานะประธานร่วม ร่วมกันขับเคลื่อนและสานต่อความสำเร็จของโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณภาพข่าว : กระทรวงการต่างประเทศ

บทความโดย ประวีณมัย  บ่ายคล้อย

ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG)