“รถไฟจีน-ลาว” โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในยุคหลังโควิด-19

0
1

“รถไฟจีน-ลาว” โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในยุคหลังโควิด-19

การเปิดบริการรถไฟสายจีน-ลาวตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2564  ทำให้มีเส้นทางลำเลียงสินค้าและคนจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ของจีน มาที่นครหลวงเวียงจันทน์ ของลาว โดยใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง ถือเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย

รองศาสตราจารย์ ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์  สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวใน งานเสวนา Next Step เกษตรไทย : ก้าวต่อไปธุรกิจเกษตรรับมืออย่างไร? หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น เรื่อง อีสานเกตเวย์ “รถไฟจีน-ลาว” โอกาสและความท้าทายที่เกษตรกรเผชิญหลังยุคโควิด-19 ว่า รถไฟสายจีน-ลาวนี้ ทำให้ลาวกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งของอาเซียน และยังทำให้ไทยใช้เส้นทางนี้ขนส่งสินค้าไปถึงประเทศจีน  โดยสิ่งที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมดังนี้

1.ทำให้จังหวัดหนองคายเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่ง โดยการสร้างเส้นทางรถไฟสถานีหนองคาย -ท่านาแล้ง ระหว่างไทย-ลาว ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และสร้างเส้นทางรถไฟหนองคาย-สถานีเวียงจันทน์ใต้เพื่อขนส่งสินค้า ระยะทาง 4 กิโลเมตร

2. พัฒนาจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคาย อุดรธานี เป็นศูนย์ธุรกิจ (business center) ที่ทันสมัย มีบริการที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ นักธุรกิจจีนและประเทศต่างๆ สามารถเจรจาธุรกิจ สั่งซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

3. ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกให้สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกและกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ เช่น จีนมีแผนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว

รถไฟสายจีน-ลาวนี้ นี้แป็นหนึ่งในเส้นทางภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) มีระยะทาง 1,020 กิโลเมตร เป็นระยะทางในจีน 598 กิโลเมตร และระยะทางในลาว 422 กิโลเมตร สามารถวิ่งขนส่งผู้โดยสารด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถวิ่งบรรทุกสินค้าด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงถืออีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจที่ช่วยเพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งสินค้าไปยังประเทศจีน

บทความโดย : ประวีณมัย บ่ายคล้อย