บทวิเคราะห์: นาโตต้องหยุดใส่ร้ายและท้าทายจีน

0
1

บทวิเคราะห์: นาโตต้องหยุดใส่ร้ายและท้าทายจีน

หลังสิ้นสุดสงครามเย็น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารที่ก่อตั้งขึ้นในค.ศ. 1949 เลือกทำสงครามเย็นครั้งใหม่  แทนที่จะยุติบทบาทของตนและยุบองค์กรนี้ไป  เพื่อพิสูจน์ถึงความจำเป็นในการดำรงอยู่ต่อไปขององค์กรนี้  จึงไม่น่าแปลกใจว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปยังสิ่งที่เรียกว่า “ภัยคุกคามจากจีน”  โดยนาโตกล่าวหาจีนว่า  มี “ความท้าทายเชิงระบบ”    นาโตยังได้ใส่ร้ายนโยบายการต่างประเทศของจีน และบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพัฒนาทางการทหารและการป้องกันประเทศตามปกติของจีน   แต่การกล่าวหาของนาโตที่มีอคติทางอุดมการณ์ต่อจีนนั้นไม่มีมูลแม้แต่น้อย

ชาวจีนเป็นประชาชนที่รักสันติภาพมาโดยตลอด  อีกทั้งยังเป็นผู้ สนับสนุนความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ   นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นต้นมา  จีนไม่เคยเป็นฝ่ายก่อให้เกิดสงครามกับใคร  ไม่เคยเข้ายึดครองดินแดนต่างประเทศแม้แต่นิ้วเดียว ไม่เคยทำสงครามตัวแทน และไม่เคยเข้าร่วมหรือจัดตั้งกลุ่มประเทศทางการทหารใดๆ

จีนยังคงเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการระบุในรัฐธรรมนูญว่า จะยึดมั่นแนวทางการพัฒนาอย่างสันติ   ในขณะเดียวกัน จีนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขประเด็นร้อนและส่งเสริมสันติภาพของโลก  เป็นผู้บริจาครายใหญ่อันดับสองในงบประมาณประจำของสหประชาชาติและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพ     เมื่อต้นปีนี้  จีนได้เสนอแผนความมั่นคงโลก (Global Security Initiative)  เพื่อชี้แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยที่เร่งด่วนให้กับทั่วโลก

นอกจากนี้ การพัฒนาของจีน ไม่ใช่ความท้าทาย แต่เป็นโอกาสสำหรับประเทศต่างๆทั่วโลก ในมุมมองของจีน การพัฒนาถือเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่น่ากังวลมากมายของโลก ด้วยเหตุนี้  จีนจึงได้ผลักดันให้มีการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และเสนอแผนการพัฒนาโลก (Global Development Initiative) เพื่อขยายฉันทามติทั่วโลกในการสร้างโลกที่ดีงามยิ่งขึ้นสำหรับทุกประเทศ     ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก หากดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งหมดภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ให้แล้วเสร็จจะสร้างรายได้ 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ทั่วโลกภายในปี  2030 และรายได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์จะตกเป็นของประเทศหุ้นส่วนในการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะเห็นได้ชัดว่า โลกไม่จำเป็นต้องกลัวจีน นาโตเองต่างหากที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก  จากอัฟกานิสถานไปถึงอิรัก จากลิเบียไปถึงซีเรีย  ปฏิบัติการทางทหารของนาโตได้คร่าชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน และทำให้ประชาชนนับหมื่นนับแสนคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือ ภายใต้การนำของสหรัฐฯ นาโตได้พยายามขยายตัวไปทางตะวันออก ทำให้ยุโรปตกอยู่ในภาวะวิกฤต  และทุกวันนี้   สายตาของนาโตเริ่มหันมาทางเอเชียแปซิฟิกแล้ว    ศาสตราจารย์  กิลเบิร์ต อัคคาร์  จากมหาวิทยาลัยลอนดอน แสดงความเห็นว่า “ยุโรปมักถูกสหรัฐฯใช้เป็นเครื่องมือในการครองอำนาจความเป็นใหญ่ในโลกของสหรัฐฯต่อไป”  และ  “สหรัฐฯกำลังพยายามผลักดันให้ยุโรปมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายของตนในเอเชียแปซิฟิกด้วย”

ในฐานะเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขและมั่นคงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เอเชียแปซิฟิกเป็นดินแดนที่มีแนวโน้มที่จะกระชับความร่วมมือและพัฒนาด้วยกันมากขึ้น   ด้วยเหตุนี้  แผนอุบายใดๆที่จะบ่อนทำลายสันติภาพ เสถียรภาพและสร้างอุปสรรคต่อความร่วมมือในภูมิภาคนี้จึงย่อมจะถูกคัดค้านจากประชาชนจีนและประชาชนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้อย่างเป็นเอกฉันท์   นาโตต้องรู้ว่า การป่าวร้อง “ภัยคุกคามจากจีน” ป่วยการทั้งนั้น

ในยุคที่โลกต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนี้ เป็นเรื่องโง่ที่จะแสวงหาความปลอดภัยให้ประเทศตนโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประเทศอื่น   ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม  จะปลอดภัยก็ต่อเมื่อทุกประเทศปลอดภัยไปด้วย

นาโตต้องยุติการใส่ร้ายและท้าทายจีนอย่างไร้เหตุผล   ต้องละทิ้งแนวคิดสงครามเย็น และแนวคิดที่ต้องมีฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว    ตลอดจนละทิ้งความนิยมในการใช้อำนาจทางการทหาร  พร้อมทั้งต้องหันมาร่วมกับประเทศต่างๆทั่วโลก ในการแสวงหาอนาคตร่วมกันที่ดีงามยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นแนวทางถูกต้องของนาโตในยุคใหม่

เขียนโดย ไช่ เจี้ยนซิน ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)