ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเยือนจีนตอกย้ำความสัมพันธ์จีน-อินโดนีเซียอันแน่นแฟ้นทุกมิติ

0
1

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเยือนจีนตอกย้ำความสัมพันธ์จีน-อินโดนีเซียอันแน่นแฟ้นทุกมิติ

การเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโค วิโดโด ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง  ประธาธิบดีของจีน เมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างจีนและอินโดนีเซีย  โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เป็นประมุขแห่งรัฐต่างชาติคนแรกที่ไปเยือนจีน หลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  และถือเป็นการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีวิโดโดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด 19

โดยประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีการพูดคุยกัน คือการสานต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีในโครงการ Belt and Road Initiative  ที่จีนได้ร่วมพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง โดยมีเคซีไอซี (KCIC) กิจการร่วมค้าจีน-อินโดนีเซีย เป็นผู้รับผิดชอบ รถไฟสายนี้จะช่วยพลิกโฉมการเดินทางระหว่างสองเมืองด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากเดิมมากกว่า 3 ชั่วโมง เหลือราว 40 นาทีเท่านั้น ถือเป็นเส้นทางสำคัญของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

และอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จีนและอินโดนีเซียจะร่วมกันผลักดันต่อ คือโครงการ Global Maritime Fulcrum (GMF)  ซึ่งเป็นโครงการที่อินโดนีเซียประกาศว่า  อินโดนีเซียจะเป็นจุดหมุนสำคัญในการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค  ซึ่งถือว่ามีเส้นทางการเดินเรือหนาแน่นที่สุดและมีมูลค่าการค้ามากที่สุดเข้าด้วยกัน

รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ  ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึง ประเด็นสำคัญที่ผู้นำ 2 ประเทศหารือกันว่า

“ ปีค.ศ. 2012 จีนประกาศเส้นทางสายไหมบนบก  ปี ค.ศ.2013 จีนประกาศ 21st century maritime silk road เส้นทางสายไหมทางทะเล ในวันที่สี จิ้นผิง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้ว จากนั้ที่แรกที่สี จิ้นผิง ไปเยือนคือ จาการ์ตา อินโดนีเซีย  ผมคิดว่า ในเรดาร์ของจีน อินโดนีเซียคือพื้นที่ที่เขาสนใจมากที่สุด  เรื่องหนึ่งเพราะเป็นเรื่องการเชื่อมโยงภูมิภาค  อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่  มีตลาดขนาดใหญ่  มีอัตราการเจริญเติบโตสูง มีกำลังแรงงานสูง และอินโดนีเซียมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติด้วย

มาถึงตอนนี้  เทคโนโลยีหนึ่งที่จีนต้องการอย่างมาก คือพลังงานทางเลือก และเทคโนโลยีที่จีนก้าวหน้ามากๆ คือ แบตเตอรี่  ซึ่งการผลิตแบตเตอรี่ต้องใช้แร่ธาตุสำคัญคือ นิเกิล และประเทศที่มีนิเกิลรองรับจำนวนมากและมีโรงงานถลุงด้วย คือ อินโดนีเซีย ดังนั้นถ้าจีนจะพัฒนาทางเลือก พัฒนาอีวี จีนต้องจับคู่กับอินโดนีเซีย

ส่วนโครงการ Global Maritime Fulcrum (GMF)  เป็นนโยบายที่ทำให้โจโค วิโดโด โดดเด่นมาก เพราะเค้าคิดนอกกรอบ  เดิมทีอินโดนีเซียอาจจะคิดว่า การมีเกาะ 17,500 เกาะทำให้เชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยาก แต่พอถึงยุคโจโควี โจโควีใช้นโยบาย Maritime Fulcrum คือทะเลเป็นจุดหมุน ว่าต่อไปนี้ อินโดนีเซียต้องโฟกัสที่ blue economy เศรษฐกิจแห่งท้องทะเล ที่พูดถึงเรื่องการขนส่ง  การใช้พลังงานทางเลือก  การพัฒนาเรื่องการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน การท่องเที่ยว การประมง พื้นที่ที่จะกลายเป็นศักยภาพใหม่

ซึ่งจีนก็มุ่งเรื่องพลังงานทางเลือกอยู่แล้ว  ตลาดที่จีนอยากจะไปถึงในการเข้าถึงทรัพยากร   อินโดนีเซียก็พัฒนาเรื่องนี้อยู่แล้ว เป็น 2 proposal ที่ตรงกันทั้ง 2 เรื่อง ถ้าไปดูตัวเลขการค้าขายระหว่างจีน-อินโดนีเซีย ในช่วงที่มีสงครามการค้า จีนพึ่งพาทรัพยากรจำนวนมากจากอินโดนีเซียอย่างมีนัยสำคัญ  เพราะฉะนั้นการที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเดินทางไปพบสีจิ้นผิงครั้งนี้ เป็น Proactive เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า อินโดนีเซียเองก็ต้องการจับคู่กับจีน  ไม่ใช่แค่จีนต้องการจับคู่กับอินโดนีเซีย และทั้งคู่จะมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ในอนาคต”

ในด้านความร่วมมือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังกล่าวว่า จีนยินดียกระดับความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับอินโดนีเซีย  สนับสนุนให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางในการผลิตวัคซีนของภูมิภาค และจะนำเข้าวัคซีนจากอินโดนีเซียมากขึ้นรวมถึงจะนําเข้าสินค้าต่างๆ จากอินโดนีเซียมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้จีนจะสนับสนุนอินโดนีเซียอย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดจี 20 ที่บาหลี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 รวมถึงการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในปีพ.ศ. 2566 ด้วย

การพบปะกันของผู้นำ 2 ประเทศในครั้งนี้ จึงเป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือกันทั้งในระดับทวิภาคี ที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่การเมือง  เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทางทะเล  รวมไปถึงความร่วมมือในระดับพหุภาคี และภูมิภาค ดังที่ทั้ง 2 ฝ่ายมองว่า ความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีของจีนและอินโดนีเซีย นอกจากจะทำให้ทั้ง 2 ประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกันแล้วยังส่งผลกระทบด้านบวกต่อภูมิภาคและโลกด้วย