‘ตลาดคาร์บอนจีน’ เปิดครบปี หนุน ‘การเงินคาร์บอน’ ก้าวหน้า

0
17
(แฟ้มภาพซินหัว : หน้าจอแสดงข้อมูลการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนระดับชาติแบบเรียลไทม์ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน วันที่ 16 ก.ค. 2021)
(แฟ้มภาพซินหัว : หน้าจอแสดงข้อมูลการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนระดับชาติแบบเรียลไทม์ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน วันที่ 16 ก.ค. 2021)

ปักกิ่ง, 26 ก.ค. (ซินหัว) — ตลาดซื้อขายสิทธิปล่อยคาร์บอนระดับชาติของจีน ซึ่งมุ่งส่งเสริมการลดมลพิษในหมู่ผู้ประกอบการ รวมถึงการกำหนดราคาคาร์บอน ได้ดึงดูดความสนใจอย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนอกประเทศ

“สมุดรายงาน” ของตลาดซื้อขายสิทธิปล่อยคาร์บอนระดับชาติของจีน ฉบับประจำปีแรก ระบุว่าปริมาณการซื้อขายสิทธิปล่อยคาร์บอนรวมอยู่ที่ 194 ล้านตัน และรายได้จากการซื้อขายดังกล่าวสูงเกือบ 8.5 พันล้านหยวน (ราว 4.62 หมื่นล้านบาท)

ด้านบรรดากูรูวงการซื้อขายสิทธิปล่อยคาร์บอนมองว่าภารกิจสำคัญในปัจจุบันคือการเพิ่มกิจกรรมการซื้อขาย การศึกษาวิจัย การกำหนดแผนงานพัฒนาตลาด และการฟื้นฟูกลไกการลดการปล่อยมลพิษที่ได้รับการรับรองของจีน (CCER)

‘ราคาคาร์บอน’ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ล่ายเสี่ยวหมิง ประธานตลาดการแลกเปลี่ยนทางสิ่งแวดล้อมและพลังงานเซี่ยงไฮ้ (SEEE) ชี้ว่าตลาดซื้อขายสิทธิฯ เกื้อหนุนการควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระตุ้นการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนแตะจุดสูงสุดและความเป็นกลางทางคาร์บอน

รายงานระบุว่าตลาดซื้อขายสิทธิฯ ซึ่งเริ่มดำเนินงานวันที่ 16 ก.ค. 2021 มีผู้ประกอบการด้านการผลิตพลังงาน 2,162 ราย และกำกับดูแลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 4.5 พันล้านตัน ซึ่งทำให้กลายเป็นตลาดคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ปริมาณการซื้อขายโควตาปล่อยคาร์บอนของตลาดซื้อขายสิทธิฯ ในเวลาหนึ่งปีรวมอยู่ที่ 194 ล้านตัน ส่วนรายได้จากการซื้อขายสูงเกือบ 8.5 พันล้านหยวน ขณะราคาปิดตลาดเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2022 อยู่ที่ 58.24 หยวน (ราว 316 บาท) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 21.33 จากราคาเปิดตลาดวันแรก

มุมมองจากบริษัท ซิโนคาร์บอน อินโนเวชัน แอนด์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด ระบุว่าราคาคาร์บอนระดับชาติของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก อาจผันผวนอยู่ที่ 55-65 หยวน (ราว 299-353 บาท) ต่อตัน

จางซีเหลียง ผู้อำนวยการสถาบันพลังงาน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยชิงหัว มองว่าราคาคาร์บอนของจีน ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 อยู่ที่ราว 58 หยวน (ราว 315 บาท) และจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 68 หยวน (ราว 369 บาท) ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14

ต่อจากนั้นจางมองว่าราคาคาร์บอนของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นราว 104 หยวน (ราว 565 บาท) ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 15 และทะยานแตะ 178 หยวน (ราว 967 บาท) ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 16

จำนวนผู้ปล่อยคาร์บอนสูงทะลุ 8,000 ราย

นับตั้งแต่ตลาดซื้อขายสิทธิฯ เริ่มดำเนินงานเมื่อหนึ่งปีก่อน จำนวนสะสมของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมของตลาดซื้อขายสิทธิฯ สูงเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ปล่อยคาร์บอนรายหลักทั้งหมด โดยจำนวนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสูงสุดในวันเดียวอยู่ที่ 179 ราย

จีนวางแผนเดินหน้าความพยายามกระชับกฎหมาย ข้อบังคับ และระบบนโยบายระดับชาติ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดซื้อขายสิทธิฯ รวมถึงผลักดันการออกข้อบังคับระหว่างกาลในการจัดการการซื้อขายสิทธิปล่อยคาร์บอน และปรับปรุงระบบสนับสนุนและข้อกำหนดพิเศษที่เกี่ยวข้อง

ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) จีนจะส่งเสริมตลาดซื้อขายสิทธิฯ ครอบคลุมแปดอุตสาหกรรมบริโภคพลังงานระดับสูง ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง การผลิตกระดาษ และการบิน

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ปล่อยคาร์บอนรายหลักจะขยายตัวจากมากกว่า 2,000 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า เป็น 8,000-10,000 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งแปดข้างต้น

การพัฒนาประโยชน์สาธารณะจากตลาดคาร์บอน

ตลาดการแลกเปลี่ยนทางสิ่งแวดล้อมและพลังงานเซี่ยงไฮ้ มุ่งสนับสนุนการพัฒนาตลาดคาร์บอนอาสาและประโยชน์สาธารณะจากตลาดซื้อขายสิทธิฯ และส่งเสริมการเชื่อมต่อตลาดคาร์บอนที่ได้มาตรฐาน เพื่อโครงสร้างตลาดคาร์บอนหลายระดับ และประสานตลาดคาร์บอนทั้งในและนอกประเทศ

นอกจากนั้นมีการหลอมรวมการพัฒนาตลาดคาร์บอนและการเงินคาร์บอนเข้ากับระบบการเงินระหว่างผประเทศของเซี่ยงไฮ้ ส่งเสริมนวัตกรรมการเงินคาร์บอน เช่น การซื้อคืน การวางมัดจำ ตลอดจนการจัดทำดัชนี สินเชื่อ และกองทุนคาร์บอน

ขณะเดียวกันตลาดการแลกเปลี่ยนฯ ยังจะออกการแลกเปลี่ยนคาร์บอน การส่งต่อคาร์บอน และการทำธุรกรรมย่อยอื่นๆ ตามสมควร เพื่อสร้างเซี่ยงไฮ้สู่การเป็นศูนย์กลางการกำหนดราคาของตลาดคาร์บอนที่ทรงอิทธิพลในระดับสากลด้วย

สยงอี้ รองประธานอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ไชน่า (Schneider Electric China) กล่าวว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นระบบนิเวศที่ต้องใช้ความพยายามร่วมกันจากรัฐบาล ผู้ประกอบการ สมาคมอุตสาหกรรม และฝ่ายอื่นๆ

สำหรับการบรรลุเป้าหมายคู่อย่างการปล่อยคาร์บอนแตะจุดสูงสุดและความเป็นกลางทางคาร์บอน บริษัทต่างๆ ต้องคำนวณการปล่อยคาร์บอนของทั้งวัฏจักรชีวิตด้วยมุมมองเชิงปฏิบัติ และวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเชิงปริมาณ รวมถึงร่างแผนการที่เกี่ยวข้องและดำเนินงานอย่างแข็งขัน

(เรียบเรียงโดย Yang Yifan, Xinhua Silk Road — https://en.imsilkroad.com/p/329147.html)

(อ้างอิง: Xinhua Silk Road)