การกระจายอำนาจ – เส้นทางสีจิ้นผิง(7)

0
8

การกระจายอำนาจ – เส้นทางสีจิ้นผิง(7)

ตัวอักษรจีน 4 ตัว คือ “ซง ป๋าง ฟ่าง เฉวียน” ซึ่งหมายถึงการกระจายอำนาจสู่วิสาหกิจ ที่นายสี จิ้นผิงพูดในขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคฯ ประจำอำเภอเจิ้งติ้ง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ

ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 1983 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งกำลังตกอยู่ในสภาพขาดทุนอย่างหนัก สาเหตุหลักมาจากความยากลำบากในการบริหารจัดการ นายกัว ปิ่งเจิ้น ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการเศรษฐกิจของอำเภอเจิ้งติ้ง รับรู้ถึงปัญหาและอธิบายว่า “รัฐวิสาหกิจจะลงทุนสินทรัพย์ถาวรเพิ่มเพียง 50,000 หยวนก็ต้องขออนุมัติจากสำนักการคลังของอำเภอ จะแต่งตั้งและถอดถอนบุคลากรก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด แม้แต่การโยกย้ายคนงานเพียงคนเดียวก็ยังต้องขออนุมัติจากหน่วยงานผู้บังคับบัญชา ทำให้เกิดความผิดพลาดมาแล้วหลายครั้งเมื่อได้รับมอบภารกิจหนักด้านการผลิต”

เมื่อนายสี จิ้นผิง ได้ทราบถึงปัญหา เขามองว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ในปี 1984 อำเภอเจิ้งติ้งได้ออกเอกสาร”วิธีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมของอำเภอเจิ้งติ้ง” จากนั้นแวดวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของทั่วทั้งอำเภอได้ดำเนินการ “กระจายอำนาจ 5 ด้าน” ได้แก่ การใช้ทรัพยากรบุคคล การประกอบกิจการ การกำหนดค่าจ้าง การกำหนดราคาสินค้า และการจัดสรรโบนัส

ในเดือนมิถุนายนปี 1984 มีการเสนอแผน “1 รับประกันและ 3 ปฏิรูป” อย่างเป็นทางการ

“1 รับประกัน” คือการรับประกันดัชนีที่จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณและดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ผู้รับประกันสามารถเป็นบุคคลคนเดียว ทีมงานหนึ่งทีม หรือทีมผู้บริหารวิสาหกิจทั้งชุด โดยผู้รับประกันสามารถยื่นสมัครเอง หรือผ่านการสรรหา การประมูลและการคัดเลือกในแนวทางประชาธิปไตย

ส่วน  “3 ปฏิรูป” หมายถึงการเปลี่ยนระบบแต่งตั้งผู้บริหารวิสาหกิจให้เป็นระบบคัดเลือก การเปลี่ยนระบบจ้างงานแบบถาวรให้เป็นสัญญา และการเปลี่ยนระบบค่าจ้างแบบตายตัวเป็นระบบค่าจ้างแบบลอยตัว

แปลว่าให้สิทธิคนที่ทำสัญญาเป็นผู้รับประกันสามารถจัดตั้งทีมผู้บริหารเองได้ ไม่ถูกจำกัดโดยระบบกรรมสิทธิ์แห่งรัฐหรือส่วนรวม โดยระบบดังกล่าวสามารถทำได้ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือชนชั้นแรงงาน ชาวเมืองหรือชาวชนบท เป็นนโยบายที่ทลายกำแพงการบริหารงานแบบรวมศูนย์ และอีกหนึ่งแรงจูงใจคือการอนุญาตให้วิสาหกิจสามารถจัดสรรโบนัสแบบ “ไม่มีเพดานจำกัด” ตามผลงานที่ทำได้จริง

จากนโยบายดังกล่าวทำให้อำเภอเจิ้งติ้งในเวลานั้นมีนักปฏิรูปออกมาทำงานสนองนโยบายเหล่านี้เป็นจำนวนมาก แต่แน่นอนว่าเมื่อเป็นของใหม่ก็ย่อมต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยคอยขัดขวางและจับผิด

ตัวอย่างเช่น มีนักปฏิรูปคนหนึ่งชื่อเจียงซื่อถาน ได้กลายเป็น “คนดัง” ไปทั่วประเทศ เขาเป็นหนึ่งในนักปฏิรูปและเป็นนักบริหารที่สามารถเปลี่ยนหมู่บ้านที่ยากจนให้กลายเป็นหมู่บ้านมั่งคั่งที่มีรายได้ต่อหัวต่อปีมากกว่า 800 หยวนภายในเวลาไม่กี่ปี เจียงซื่อถาน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯประจำหมู่บ้านต้าเจียงจวงในมณฑลซานตง ถูกมองว่า “ชอบทำอะไรต่างกับคนอื่น ไม่รู้จักพอ”

เมื่อได้ยินเรื่องราวเช่นนี้ นายสี จิ้นผิง ได้เรียกร้องผ่านบทความในนิตยสาร “เยาวชนชนบท” ให้เกิดการสร้างกระแสสนับสนุนนักปฏิรูปรุ่นใหม่ เพื่อให้บรรดา ‘เจียงซื่อถาน’ ทั้งหลายสามารถมุ่งหน้าต่อสู้กับอุปสรรคในการพัฒนาอย่างเต็มที่”

ในปีนั้น “วิสาหกิจดาวเด่น” หลายแห่งก็ได้ปรากฏขึ้นในอำเภอเจิ้งติ้ง  และในปี 1985 ยอดมูลค่าผลผลิตทางอุตสาหกรรมของอำเภอเจิ้งติ้งอยู่ที่ 240 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 1982

“การปฏิรูปเป็นทั้งความต้องการและแรงผลักดันในการพัฒนากำลังการผลิต” นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า “จงเป็นผู้สนับสนุนการปฏิรูป ผู้ดำเนินการปฏิรูป ผู้เข้าใจการปฏิรูป และผู้พิทักษ์การปฏิรูป”

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(CMG)

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

“ใช้คนให้ถูกงาน” ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเมือง – เส้นทางสีจิ้นผิง(6)