ก้าวต่อไปในการขับเคลื่อนความร่วมมือขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)

0
1

้าวต่อไปในการขับเคลื่อนความร่วมมือขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)

การประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ครั้งที่ 22  ที่จัดขึ้นที่ประเทศอุซเบกิสถาน ถือเป็นการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  ที่จะเห็นถึงการแสดงบทบาทของจีนและแผนในอนาคต (Roadmap) ของประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

การประชุมครั้งนี้  ประเทศสมาชิกได้ลงนามเอกสารความร่วมมือมากกว่า 40 ฉบับที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม  การขับเคลื่อน SCO และการขยายความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้  ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้เข้าร่วมการประชุมทวิภาคีกับผู้นําประเทศต่างๆ 10 ท่าน  และเข้าร่วมการประชุมประมุขแห่งรัฐจีน รัสเซีย และมองโกเลีย

ในการประชุม  มีการเน้นย้ำบทบาทสําคัญของจีนในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี  เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยผู้นําประเทศต่างๆ ได้ย้ำถึงการยึดมั่นในหลักการจีนเดียว และสนับสนุนจุดยืนของจีน และหวังที่จะยกระดับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และหวังให้จีนมีบทบาทในกิจการระหว่างประเทศมากขึ้น

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวถึงจิตวิญญาณและความสำเร็จของ SCO 5 ประการ ได้แก่ การยึดมั่นในความไว้วางใจระหว่างกัน  ความร่วมมือแบบ win-win ความเสมอภาคระหว่างประเทศ  การเปิดกว้างและการไม่แบ่งแยก  และความเท่าเทียมยุติธรรม  โดยจะยึดหลักการนี้เป็นแนวปฏิบัติของ SCO ต่อไป

โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป SCO จะมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และร่วมมือกันเพื่อสร้างชุมชน SCO ที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น  และสนับสนุนความร่วมมือกันแบบพหุภาคี ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของประเทศสมาชิกที่มุ่งสร้างความสามัคคี เสถียรภาพและการพัฒนาร่วมกัน

การเข้าร่วมกับ SCO ของประเทศต่างๆ ยังขยายวงมากขึ้น  โดยการประชุมครั้งนี้  อิหร่านกลายเป็นสมาชิกถาวรของ SCO อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีการเริ่มต้นขั้นตอนการเป็นสมาชิกของเบลารุส  ขณะที่อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย และกาตาร์เป็นคู่เจรจา รวมถึงการบรรลุข้อตกลงให้บาห์เรน มัลดีฟส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และเมียนมาเป็นคู่เจรจาใหม่

นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า การขยายตัวของ SCO รอบใหม่  ทำให้ SCO กลายเป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ประกอบด้วย 26 ประเทศ ซึ่งมีประชากรมากที่สุดและครอบคลุมพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ดังนั้น SCO ไม่ใช่ “กลุ่มปิดกลุ่มเล็ก ๆ”   แต่เป็น “ครอบครัวใหญ่” ที่เปิดกว้างและครอบคลุม และกําลังแสดงพลังที่แข็งแกร่งและอนาคตที่สดใส เป็นแบบอย่างในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ ในการพัฒนาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคยูเรเซียและภูมิภาคอื่น

รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ภคภาสวิวัฒน์  นักวิชาการด้านการเมืองระหว่างประเทศ มองการประชุม SCO ครั้งนี้ว่ามีความสำคัญมาก  โดยจีนต้องการใช้กลไกนี้  เปลี่ยนแปลงระเบียบโลกที่จีนคิดว่าถูกครอบงำ โดยวิเคราะห์ว่า  “ข้อเสนอของจีนน่าสนใจมาก เหมือนเป็นแผนที่ (Roadmap) ของการเปลี่ยนแปลง  ประการแรก ระเบียบโลกใหม่ต้องไม่มีการแทรกแซงภายใน  เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จีนย้ำจุดยืนเรื่องนี้มาตลอด ประการที่ 2 คือ จะรักษาความมั่นคง  ต่อต้านการก่อการร้าย ต่อต้านการแยกแผ่นดิน  โดยไม่สนับสนุนเรื่อง การใช้ความรุนแรง (Radicalization) ที่จีนไม่อยากเผชิญลักษณะของการประท้วง ต่อต้าน  ประการที่ 3 จีนมองว่า โลกยุคใหม่เป็นโลกของความร่วมมือ  จีนได้ใช้ Belt and Road เชื่อมโยงโลกทั้งใบ เอเชียกลางทั้งหมด อยู่ในเส้นทางสายไหม ที่จีนแสดงออกชัดเจน ว่าเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับประเทศเอเชียกลาง ประการที่ 4 ควรจะมีความร่วมมือด้านอื่นๆ มากกว่าด้านเศรษฐกิจ  เช่นเรื่องวิทยาศาสตร์ การศึกษา เป็นการพัฒนาร่วมกันในหลายมิติ ประการที่ 5 โลกต้องการเข้าสู่พหุพาคี  ดังนั้น SCO จำเป็นต้องขยายออกไป สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับองค์การอื่น เช่น องค์การสหประชาชาติ อาเซียน  ซึ่งจีนกำลังสร้างระเบียบโลกใหม่เพื่อถ่วงดุลกับระเบียบเก่าที่ถูกครอบงำ”

ดังนั้น การประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ครั้งนี้จึงเป็นภาพฉายจุดยืนของจีน  และเห็นความพยายามของจีนและประเทศที่เข้าร่วม SCO ในการใช้กลไกของ SCO เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่  ในรูปแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือและสร้างอนาคตร่วมกันอย่างยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง : www.cctvplus.com

ภาพ : CGTN

บทความ :  ประวีณมัย  บ่ายคล้อย