โรงเรียนกวดวิชาจีนปรับตัวรับ “นโยบาย 2 ลด”อย่างไร ?

0
1

โรงเรียนกวดวิชาจีนปรับตัวรับ “นโยบาย 2 ลด”อย่างไร ?

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

“นโยบาย 2 ลด” คือมาตรการปฏิรูปการศึกษาออกแบบร่วมกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับรัฐบาลจีน  มุ่งตรงสู่การศึกษาภาคบังคับ  ต้องการเห็นผลในเวลาสั้นที่สุดเพียงปีเดียว (กลางปี 2021- กลางปี 2022) เนื้อหาหลัก ๆ มีเพียง 2 ข้อ คือ

1)  ลดการบ้านกองโตที่ รร.แจกให้เด็กไปทำที่บ้าน  รร.รู้ว่าพ่อแม่ไม่รังเกียจการบ้าน เพราะการบ้านเยอะความรู้ของเด็กก็จะแน่น  การบ้านจึงกลายเป็นภาระที่เด็กต้องก้มหน้าทำทุกวันหลังเลิกเรียน

2) ลดเวลาเรียนพิเศษนอกโรงเรียน  พ่อแม่ยุคใหม่มีค่านิยมว่าลูกจะต้องเรียนพิเศษ  ฝากความหวังว่าถ้าได้รร.พิเศษที่มีติวเตอร์เก่ง ๆ ลูกจะทำคะแนนได้ดี  สอบเข้ารร.มัธยมชื่อดังได้  จากนั้นก็เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศได้  ฯลฯ

“ลดที่ 2” นี่แหละคือปัญหาที่รัฐบาลต้องรีบสะสางอย่างเร่งด่วนและต้องการเห็นผลทันตาด้วย  เพราะยิ่งนาน รร.กวดวิชาก็ยิ่งเพิ่มขึ้น การแข่งขันค้ากำไรก็ดุเดือดขึ้น ควบคุมยากขึ้น  การบังคับใช้กฎหมายมีผลให้ รร.กวดวิชารีบปรับตัวทันที..

1)  กฎหมายใหม่ไม่อนุญาตให้รร.พิเศษสอนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกับวิชาบังคับในหลักสูตร  เพราะจะทำให้เกิดความเสียเปรียบได้เปรียบระหว่างเด็กที่เรียนกับไม่ได้เรียน  รร.พิเศษบางแห่งสอนล้ำหน้าโรงเรียนด้วยซ้ำ  เพื่อให้เด็กที่เรียนเก่งกว่า ทำคะแนนดีกว่าเด็กคนอื่น  ผลการบังคับใช้กฎหมายทำให้รร.กวดวิชาที่มีอยู่ราว 124,000 แห่งทั่วประเทศ ปิดตัวลงเหลือ 9,426 แห่ง  ที่เหลือต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนจากวิชาในหลักสูตร  ไปสอนวิชานอกหลักสูตร  ฝึกหัดทักษะความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ให้กับเด็กแทน ฯลฯ

2)  กฎหมายใหม่จำกัดชั่วโมงเรียนออนไลน์  และไม่อนุญาตให้สถาบันชื่อดังต่างประเทศใช้สื่อออนไลน์เข้าถึงเด็กนักเรียนในประเทศจีน  คำสั่งนี้มีผลให้รร.ที่สอนผ่านออนไลน์หายหน้าไปในชั่วข้ามคืน  VIPKids สถาบันสอนพิเศษชื่อดังระหว่างประเทศต้องยุติการสอนในตลาดจีนทันที  แต่ยังมีติวเตอร์บางคนแอบใช้วิธีสอนเป็นส่วนตัวโดยไม่ใช้ชื่อสถาบันก็มี

3) กฎหมายสั่งห้าม รร.พิเศษทำธุรกิจเพื่อการค้ากำไร โรงเรียนจำนวนไม่น้อยอาศัยชื่อเสียงที่สังคมให้การยอมรับ  เรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากผู้ปกครองเป็นรายปี  ปีละ 20,000 หยวนก็มี  กฎหมายใหม่บังคับให้เก็บค่าเล่าเรียนได้เป็นช่วง ๆ ช่วงละไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น ฯลฯ

โดยเนื้อแท้แล้ว “นโยบาย 2 ลด” มุ่งเพื่อปฏิรูปการศึกษาโดยตรง   แต่นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองข้ามช็อตไปถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่อยู่เบื้องหลัง  ว่าการลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเรียนเป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่ง  เจตนาของรัฐที่แท้จริงต้องการอาศัยเรื่องนี้เป็นมูลเหตุจูงใจให้พ่อแม่มีบุตรเพิ่มขึ้น  เพราะการคุมกำเนิดลูกคนเดียวอย่างเข้มงวดนานกว่า 30 ปีทำให้ประชากรจีนเพิ่มขึ้นน้อยมาก  จนเปลี่ยนมาเป็นนโยบายลูก 2 คนก็แล้ว  3 คนก็แล้ว  แนวโน้มเด็กเกิดใหม่ของจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง  รอยเตอร์รายงานว่า  ปี 2020 จีนมีเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 12 ล้านคน  น้อยกว่าปี 2019  2.5 ล้านคน   หากรัฐไม่หามาตรการมาช่วยพ่อแม่ลดภาระที่ไม่จำเป็นมาโน้มน้าวใจให้มีลูกเพิ่มขึ้น  อีกไม่นานจีนจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวอย่างรุนแรงแน่นอน

การปฏิรูปครั้งนี้จะได้ผลตามที่รัฐคาดหวังหรือไม่ ?  หรือจะให้ผลตรงกันข้าม ? นั่นก็คือแทนที่พ่อแม่จะดีใจกับภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง  กลับเกิดความกังวลใจกับการเรียนของลูก ๆ ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถานการณ์แบบใหม่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย  ก็ในเมื่อพ่อแม่ยุคนี้ยังมีความมุ่งมั่นอยากเห็นความเป็นเลิศทางวิชาการของลูก  อยากเห็นอนาคตอันรุ่งโรงจน์ของลูก  ทางออกที่เป็นได้มากเพื่อแก้ความกังวลใจของพ่อแม่ในยามนี้คงหนีไม่พ้น….  หาทางส่งบุตรหลานไปเรียนต่อต่างประเทศให้เร็วขึ้นกว่าเดิม

ผลจะเป็นอย่างไร  เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์