โอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดจีนฝั่งตะวันตกผ่านท่าเรือชิงโจว

0
25

โอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดจีนฝั่งตะวันตกผ่านท่าเรือชิงโจว

ในงานสัมมนา เรื่อง “ท่าเรือชินโจว กว่างซี ประตูเชื่อมสินค้าไทย-สู่จีนตะวันตก” จัดโดย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย  มีการเสวนาถึงโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการในการเจาะตลาดจีนฝั่งตะวันตกผ่านท่าเรือชิงโจว โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว คุณวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย  คุณสิงห์ สันติอัศวราภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) สาขาเซี่ยงไฮ้ คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดจีนฝั่งตะวันตกมีประชากรประมาณ 382 ล้านคน เป็นตลาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจ    ถ้าพิจารณาจากรายได้ของประชากรต่อหัว แม้ในมณฑลฝั่งตะวันตกยังไม่สูงเท่ามณฑลฝั่งตะวันออก แต่รายได้ของประชากรเติบโตร้อยละ 15-40  ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีน ในการกระจายรายได้ไปยังภูมิภาคใหม่ๆ

โอกาสสำหรับสินค้าไทยที่ไปเจาะตลาดจีนฝั่งตะวันตกยังมีอีกมาก ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคเช่น ผลไม้เมืองร้อนที่จีนยังผลิตไม่ได้ สินค้าซัพพลายเชน เช่น เม็ดพลาสติก ยางพารา เคมีภัณฑ์  และสินค้าฮาลาล เนื่องจากมีชาวจีนมุสลิม 28 ล้านคนที่อาศัยในจีนฝั่งตะวันตกคิดเป็นร้อยละ 7.3

ในแง่การผลิต  มณฑลฉงชิ่ง และเฉิงตู  มีอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการเชื่อมโยงสินค้าที่อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเหล่านี้

คุณปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว  กล่าวว่าความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดจีนตะวันตกว่า  ถ้าดูสถิติการนำเข้าสินค้าเกษตรไทยที่สำคัญของเขตกว่างสี  คือ มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง และ ผลไม้  ใน 7 เดือนแรกของปีนี้  เขตกว่างสีมีการนำเข้ามันสำปะหลังแห้งกว่า 44,000 ตัน ขณะที่การนำเข้ามันสำปะหลังอยู่ที่ 120,000 ตัน และ  ผลไม้ 70,000 ตัน  ทำให้เห็นโอกาสของสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะมันสำปะหลัง  เพราะประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับ 3 ของโลก รวมถึงเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่จีนเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งอาหาร แอลกอฮอล์ อาหารสัตว์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง  มันสำปะหลังจึงมีโอกาสในตลาดจีนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการนำเข้าผ่านท่าเรือชินโจว  ซึ่งมีโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังใหญ่ๆ ตั้งอยู่ในเขตกว่างซีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่

นอกจากนี้  ท่าเรือชินโจวยังถูกกำหนดให้มีการนำเข้าสินค้าเฉพาะบางประเภท เช่น ผลไม้นำเข้า ธัญพืชนำเข้า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นำเข้า  ในส่วนของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นำเข้า ด่านท่าเรือชินโจวเป็นด่านเดียวในเขตกว่างซี ที่อนุญาตที่นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ได้  ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย  โดยการนำเข้าผลไม้ผ่านท่าเรือชินโจว ตามสถิติของกรมวิชาการเกษตร พบว่า มีการส่งออกผลไม้ประมาณ 27,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุเรียน และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

คุณสิงห์ สันติอัศวราภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) สาขาเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการ  สิ่งที่สำคัญในการคัดเลือกท่าเรือในการขนส่ง คือ ต้องพิจารณาเรื่องความรวดเร็ว  เรื่องต้นทุน  เรื่องความสะดวก  3 สิ่งนี้  ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้  ซึ่งท่าเรือชินโจวมีลักษณะเป็นไฮบริด เป็นการขนส่งทางเรือแล้วต่อด้วยรถไฟ  ทำให้การขนส่งรวดเร็วมากขึ้น

ในกลุ่มของปตท.มีบริษัทในเครือที่ได้ใช้บริการท่าเรือชินโจวในการส่งเม็ดพลาสติก เป็นหนึ่งในทางเลือกในการไปเจาะตลาดทาง Southwest China ถือว่าเป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าเข้าสู่ประเทศจีน ที่สามารถนำสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ทันที

คุณวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย  กล่าวว่า ตอนนี้ยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่ ที่มีทั้งการเปิดท่าเรือ การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกในการขนส่ง ที่แต่เดิมเส้นทางการขนส่งจะมีไปที่ฮ่องกง  เซี่ยงไฮ้  กวางตุ้ง  เซินเจิ้นเท่านั้น แต่วันนี้มีท่าเรือชินโจวเพิ่มขึ้นมา  เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ในการผลักดันสินค้าไทยไปสู่ตลาดจีน และต่อจากจีนไปยังยุโรป สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคนี้ ที่ต้องมองการขนส่งหลายรูปแบบ ทุกช่องทาง ทำให้สินค้าถึงมือลูกค้าอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย

ท่าเรือชินโจว กว่างซี จึงเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไทยไปจีน และเป็นโอกาสใหม่ที่ผู้ประกอบการจะเจาะตลาดไปสู่ภูมิภาคจีนฝั่งตะวันตก

บทความโดย : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย