ผลลัพธ์ ‘การพัฒนาสีเขียว’ ของจีน หนุนนานาชาติร่วมมือคุณภาพสูง

0
58
(แฟ้มภาพซินหัว : อุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติเสี้ยวเหอ เมืองเสี้ยวอี้ มณฑลซานซีทางจีนตอนเหนือ วันที่ 12 ก.ค. 2022)

ปักกิ่ง, 19 ธ.ค. (ซินหัว) — ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมุ่งมั่นเดินหน้าบนเส้นทางของการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ “การเติบโตสีเขียว” ตามคำมั่นบรรลุการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แตะระดับสูงสุดภายในปี 2030 และความเป็นกลางทางคาร์บอนก่อนปี 2060 หรือที่รู้จักกันว่า “เป้าหมายคาร์บอนคู่”

ความสำเร็จในการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรอบหรือ “การพัฒนาสีเขียว” ของจีน มิเพียงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรอบด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ แต่ยังมีบทบาทเชิงรุกในการนำพาความร่วมมือระหว่างประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย

จีนปฏิบัติตามหลักปรัชญาการพัฒนาสีเขียว อาทิ โครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว การลงทุนสีเขียว และการเงินสีเขียว ยามดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศกับนานาประเทศ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวทั่วโลกอย่างลึกซึ้ง

ลงมือทำตามคำมั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จีนสร้างความคืบหน้าของการมุ่งสู่เป้าหมายคาร์บอนคู่อย่างมากในปี 2022 ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ออกแนวปฏิบัติระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมหลัก ส่งเสริมการขนส่งที่ประหยัดพลังงานและปล่อยคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนระดับชาติ

หลี่เกา เจ้าหน้าที่กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน ระบุว่าตลาดซื้อขายคาร์บอนระดับชาติของจีน ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2021 และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุม มีปริมารการค้ารวม 196 ล้านตัน และปริมาณธุรกรรมทางการเงินรวม 8.58 พันล้านหยวน (ราว 4.28 หมื่นล้านบาท) ตลอดการดำเนินงานนานหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา

ตลาดซื้อขายคาร์บอนระดับชาติดำเนินงานตามโครงสร้างและกฎเกณฑ์อย่างเป็นระเบียบและเป็นไปตามความคาดหวัง ขณะจีนเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลดั้งเดิมสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนคู่

กำลังการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียนของจีน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นปี 2022 ท่ามกลางความพยายามพัฒนาสีเขียว โดยข้อมูลจากสำนักบริหารพลังงานแห่งชาติจีน ระบุว่ากำลังการผลิตติดตั้งรวมของไฟฟ้าภายในประเทศสูงราว 2.5 พันล้านกิโลวัตต์ เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบปีต่อปี

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจระดับสูงสูงสุดของประเทศ ระบุว่าจีนวางแผนก่อสร้างสถานีพลังงานลมและฐานพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตติดตั้งสูงถึง 450 ล้านกิโลวัตต์ บริเวณพื้นที่ทะเลทราย โดยปัจจุบันมีการดำเนินงานก่อสร้างโครงการชุดแรกอย่างเต็มกำลังแล้ว

ขณะเดียวกันจีนยังมุ่งมั่นปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียวที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ กำจัดกำลังการผลิตล้าสมัย และลดกำลังการผลิตส่วนเกิน เช่น มณฑลซานซีทางตอนเหนือ ซึ่งเคยพึ่งพาทรัพยากรถ่านหินอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ได้เป็นผู้นำการปฏิวัติทางพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำของประเทศ

หวังเหมาเซิง รองผู้อำนวยการสำนักบริหารพลังงานมณฑลซานซี เผยว่าซานซีจะเพิ่มกำลังการผลิตของเหมืองถ่านหินคุณภาพสูงอย่างเหมาะสมและเป็นระเบียบ พร้อมยกเลิกเหมืองถ่านหินที่ปราศจากทรัพยากรแล้ว ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025)

เหมืองอวิ๋นก่าง สังกัดบริษัท การผลิตพลังงานระหว่างประเทศต้าถัง จำกัด (Datang Power) ในซานซี ได้เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์จากภาระเป็นสินทรัพย์ด้วยการกลั่นท่อนาโนคาร์บอนจากก๊าซไอเสียของเหมือง ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ พลังงานใหม่ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การขนส่งทางราง และอื่นๆ

“เทคโนโลยีการดักจับและการกลั่นกรองคาร์บอนนับเป็นวิถีทางอันยั่งยืนที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้การลดคาร์บอนและการพัฒนาเศรษฐกิจ” ซ่งเว่ยหนิง หัวหน้าสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมคาร์บอน-เศรษฐกิจสะอาดของซานซีกล่าว

นอกจากนั้นประชาชนชาวจีนจำนวนมากยังปรับเปลี่ยนมามีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน ระบุว่ามีการผลิตและจำหน่ายยานยนต์พลังงานใหม่ภายในประเทศเกือบ 4.72 ล้านคัน และ 4.57 ล้านคัน ตามลำดับ ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน

ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์พลังงานใหม่ภายในจีนจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก่อเกิดเป็นเครือข่ายการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนเสาชาร์จมากกว่า 4 ล้านต้น

หลี่เปาหัว อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยเซินเจิ้น มหาวิทยาลัยชิงหัวของจีน ระบุว่าห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่มีการพัฒนาอย่างเต็มกำลังด้วยจำนวนยานยนต์พลังงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแผนผังเสาชาร์จที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ซึ่งช่วยอัดฉีด “พลังงานสีเขียว” สู่การเปลี่ยนผ่านและการยกระดับทางเศรษฐกิจของจีน

ความมุ่งมั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก้าวสู่ต่างแดน

จีนได้แบ่งปันเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่สั่งสมระหว่างเดินหน้าการพัฒนาสีเขียวของประเทศแก่นานาชาติ ผ่านการสนับสนุนและปฏิบัติตามหลักการอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลประโยชน์แก่ผู้คนหมู่มากในหลากหลายภูมิภาค

หวงรุ่นชิว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและวิ่งแวดล้อมของจีน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมแห่งกลุ่มประเทศบริกส์ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2022 กล่าวว่าทุกฝ่ายควรร่วมมือกันในการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ จัดสรรแนวทางปกป้องสิ่งแวดล้อมแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและโลก และทำงานใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นเพื่อมุ่งสู่อนาคตของการปล่อยคาร์บอนต่ำ

จีนได้ลงนามเอกสารความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับ 38 ประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 45 ฉบับ เมื่อนับถึงเดือนพฤศจิกายน ขณะความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาสีเขียวตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน มีหุ้นส่วนเข้าร่วมจากกว่า 40 ประเทศ มากกว่า 150 ราย

(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนใกล้อาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารพาณิชย์เอธิโอเปียในกรุงแอดดิส อาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย วันที่ 13 ก.พ. 2022)

อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของธนาคารพาณิชย์เอธิโอเปีย ความสูง 209.15 เมตร ณ ใจกลางกรุงแอดดิส อาบาบา ซึ่งสร้างโดยบริษัท ไชน่า สเตต คอนสตรักชัน เอ็นจิเนียริง คอร์เปอเรชัน จำกัด (CSCEC) ของจีน และถูกเปิดใช้งานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือดังกล่าว โดยอาคารสูงระฟ้าแห่งนี้มีการติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ด้านนอกและเซนเซอร์ไฟส่องสว่างแบบปรับเองด้านในที่ช่วยประหยัดพลังงานในภาพรวมถึง 30%

ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ฯ ฝ่ายเอธิโอเปีย กล่าวชื่นชมว่าบริษัทจีนได้ช่วยเอธิโอเปียก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ที่บูรณาการภูมิปัญญาจีนเข้ากับแนวคิดสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์การิสสา (Garissa) ในเคนยา ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างจากจีน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาสีเขียว โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้มอบพลังงานสะอาดแก่ชุมชนท้องถิ่นและช่วยส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวของเคนยา

รายงานระบุว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์การิสสาผลิตไฟฟ้ารายปีมากกว่า 76 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และจ่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนหลายพันคนใน 70,000 ครัวเรือน รวมถึงช่วยลดการใช้ถ่านหินมาตรฐานมากกว่า 20,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หลายหมื่นตัน

เลวิส ดิชู นักวิจัยประจำสถาบันนโยบายแอฟริกาในกรุงไนโรบี กล่าวว่าจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านขนาดของเทคโนโลยีและการพัฒนา ได้บุกเบิกวิถีทางการพัฒนาที่สะดวกสบาย มีประสิทธิภาพ และสะอาดปลอดภัย ซึ่งมีบทบาทหลักในกระบวนการลดคาร์บอนของระบบพลังงานทั่วโลก และเป็นต้นแบบให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เรียนรู้

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บีวายดี (BYD) ผู้ผลิตแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์และยานยนต์ไฟฟ้าของจีน ได้ขยับขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์พลังงานหมุนเวียนในบราซิล โดยมีการเปิดโรงงานสามแห่งในรัฐเซาเปาลูและรัฐแอมะซอน ซึ่งดำเนินธุรกิจต่างๆ อย่างการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดเก็บแบตเตอรี่ และยานยนต์พลังงานใหม่

ผู้เชี่ยวชาญชาวบราซิลคนหนึ่งแสดงความเห็นว่าบีวายดีไม่เพียงนำผลิตภัณฑ์และแนวทางที่ประหยัดพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอนสู่ตลาดบราซิล แต่ยังช่วยสร้างงาน รวมถึงส่งต่อความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสู่ชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย

เควิน คอนราด ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรแนวร่วมกลุ่มประเทศป่าฝน (Coalition for Rainforest Nations) กล่าวว่าความมุมานะพยายามของจีนในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็น “เรื่องราวแห่งความหวัง” ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การร่วมสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียวสนับสนุนการสร้างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมากต่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรักษาความมั่นคงทางนิเวศวิทยาระดับโลก

(แฟ้มภาพซินหัว : แพนด้ายักษ์ปีนต้นไม้ในฐานเสินซู่ผิงของศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์แห่งประเทศจีน เขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติว่อหลง มณฑลซื่อชวนทางจีนตะวันตกเฉียงใต้ วันที่ 24 เม.ย. 2022)

จีนนำเสนอการสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2016 และมุ่งมั่นสร้างความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักปรัชญาการพัฒนาสีเขียว กลไกการสื่อสาร และความร่วมมือเชิงปฏิบัติที่ขยายกว้าง มีพัฒนาการ และลึกซึ้งยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นจีนในฐานะผู้มีส่วนร่วม ส่วนเสริม และส่วนนำของการสร้างอารยธรรมเชิงนิเวศระดับโลก ได้ออกชุดนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมุ่งเน้นการบ่มเพาะการพัฒนาการเงินสีเขียวและตลาดการเงินสีเขียว เพื่อเสริมแรงสนับสนุนการสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียว

ปัจจุบันหน่วยงานกำกับควบคุมทางการเงินของจีนและธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBOC) หรือธนาคารกลางจีน ได้ออกแนวทางจัดตั้งระบบการเงินสีเขียวในจีน รวมถึงนโยบายและเอกสารอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ของระบบการเงินสีเขียวมาสร้างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม

ข้อมูลจากธนาคารกลางจีนระบุว่าสินเชื่อสีเขียว (green loan) สกุลเงินเหริมหมินปี้และสกุลเงินต่างประเทศคงค้างในจีน เมื่อนับถึงสิ้นเดือนกันยายน เติบโตร้อยละ 41.4 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 20.9 ล้านล้านหยวน (ราว 104.29 ล้านล้านบาท)

การพัฒนาการเงินสีเขียวของจีนมีบทบาทเกื้อหนุนการพัฒนาสีเขียวที่ยั่งยืนของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ด้วยการสนับสนุนทางการเงินปริมาณมากสู่โครงการสีเขียวในกลุ่มประเทศและภูมิภาคที่เข้าร่วมการสร้างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ตลาดตราสารหนี้สีเขียวของจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก มีส่วนส่งเสริมการสร้างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนจากผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้สีเขียวภายในประเทศที่กำลังขยายตัวและสถาบันจากกลุ่มประเทศและภูมิภาคตามแผนริเริ่มฯ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่มายังจีนเพื่อออกตราสารหนี้แพนด้าสีเขียว

ขณะเดียวกันจีนส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินสีเขียวของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างช่องทางจัดสรรเงินทุนสู่การสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียวเพิ่มขึ้น

หลักการการลงทุนสีเขียวของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (GIP) ซึ่งเผยแพร่เดือนพฤศจิกายน 2018 ได้ขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่องในฐานะแผนริเริ่มระหว่างประเทศด้านการเงินที่ยั่งยืน โดยมีผู้ร่วมลงนาม 44 ราย สถาบันสนับสนุน 14 แห่ง และสินทรัพย์ที่ถือครองหรืออยู่ภายใต้การจัดการสูงเกิน 41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,429.67 ล้านล้านบาท) เมื่อนับถึงกลางเดือนกันยายน 2022

การจัดระเบียบการลงทุนสีเขียวและมาตรฐานการสนับสนุนทางการเงิน ยามกลุ่มประเทศและภูมิภาคตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเผชิญความท้าทายจากโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มีความต้องการการพัฒนาสีเขียวเพิ่มขึ้น จะช่วยลดต้นทุนการรับรองสินทรัพย์สีเขียวข้ามพรมแดน และเพิ่มโอกาสการพัฒนาสีเขียวเพิ่มเติม

(เรียบเรียงโดย Duan Jing, Li Shimeng, Yu Huichen — Xinhua Silk Road, www.xinhuathai.com/silkroad/327118_20221219 , https://en.imsilkroad.com/p/331691.html)