ยุคทองของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์

0
2

การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 3-5 มกราคม 2566 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นการตอกย้ำถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ที่แนบแน่นยิ่งขึ้น 

โดยการเยือนจีนของประธานาธิบดีมาร์กอสถือเป็นการเยือนจีนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี และยังเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกของปีนี้ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้การต้อนรับ

โดยประเด็นสำคัญของการพบกันในครั้งนี้ คือ เรื่องการหาทางคลี่คลายข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยประธานาธิบดีมาร์กอสระบุว่า ต้องการที่จะยุติปัญหาอย่างฉันท์มิตรและพยายามแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

หลังการพบปะหารือของผู้นำทั้งสอง จีนและฟิลิปปินส์มีแถลงการณ์ร่วมข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคี 14 ฉบับ  ครอบคลุมความร่วมมือหลายด้าน อาทิ แผนปฏิปัติการร่วมปีค.ศ. 2023-2025 ในด้านการเกษตรและการประมง  ความร่วมมือในโครงการข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ความร่วมมือด้านดิจิทัล การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ความร่วมมือในการส่งผลไม้ เช่น ทุเรียนสด ของฟิลิปปินส์ไปยังจีน ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศตกลงที่จะมีการตั้งช่องทางการสื่อสารโดยตรง เป็นฮอตไลน์ที่เป็นการสื่อสารระดับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และจีนระบุว่า พร้อมที่จะรื้อฟื้นการเจรจาเรื่องน้ำมันและก๊าซด้วย

กวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันการศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการเยือนจีนของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์และผลการหารือแบบทวิภาคีในครั้งนี้ว่า “การเดินทางไปประเทศจีนของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ครั้งนี้สำคัญมาก เพราะฟิลิปปินส์จะเป็นตัวชี้นำภาพลักษณ์ของจีนที่มีในภูมิภาค ซึ่งผลของการหารือมีความร่วมมือครบทุกด้าน และคำแถลงการณ์ทั้งสองฝ่ายออกมาดีมาก เชื่อว่าความสัมพันธ์จีนและฟิลิปปินส์จะดีขึ้นเรื่อยๆ มีความร่วมมือมากขึ้นในทุกระดับ ทั้ง 2 ฝ่ายมีท่าทีที่มองไปข้างหน้า มีเสถียรภาพมากขึ้น

ผลที่ตามมา คือ จะช่วยลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตึงเครียดมาโดยตลอด และทำให้มหาอำนาจอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เข้ามาในภูมิภาค และยังสามารถเพิ่มความร่วมมือในบริเวณที่มีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ทำให้ความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศดีขึ้น หลังจากนี้ ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องดำเนินนโยบายทางการทูต ที่ต้องรักษาดุลยภาพ ความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐอเมริกาไม่ให้มีความขัดแย้งหรือเลือกข้างใดข้างหนึ่ง”

การหารือกันของจีนและฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ จึงบรรลุวัตถุประสงค์ของทั้งสองประเทศ ที่จะพัฒนาความร่วมมือกันทั้งด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และตอกย้ำจุดยืนของจีนที่ต้องการจะทำงานร่วมกับประเทศฟิลิปปินส์รวมถึงประเทศในอาเซียนเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาในภูมิภาคต่อไป

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย