“นัยยะจากเรื่องประชากรจีนลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี”

0
1

นัยยะจากเรื่องประชากรจีนลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี”

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

คนจำนวนไม่น้อยไม่ก็คงแปลกใจ  ไม่ก็คงไม่เข้าใจว่า  ข่าวเรื่อง “ปีนี้ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี”  ทำไมต้องเป็นข่าว  สื่อไทยทุกสื่อนำเสนอเรื่องนี้  นักเขียนจำนวนไม่น้อยก็พยายามอธิบายเรื่องนี้ให้เห็นในเชิงวิชาการ  ซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องมีตัวเลขมากมายมาแสดง  ผู้เขียนตั้งใจว่าจะลองเขียนเรื่องนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ สำหรับคนทั่วไปที่สนใจเรื่องจีน

นัยยะแรกที่ต้องตีความให้แตกก็คือ  ประชากรจีนลดลงมันสำคัญตรงไหน ? ”ดี” หรือ “ไม่ดี” กับจีนหรือกับโลกของเราอย่างไร ?  ถ้าถามว่า ดีหรือไม่ดีสำหรับจีน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะตอบว่า “ดี” เพราะฟังมานักต่อนักว่าจีนมีประชากร 1,400 ล้านคนมากที่สุดในโลก  ขณะที่การคุมกำเนิดสำหรับคนจีนก็ใช้แทบไม่ได้ผล  ยกตัวอย่างปี 1949 ปีที่จีนสถาปนาประเทศใหม่ ๆ มีประชากรแค่ 541 ล้านคน  ผ่านไป 30 ปี (ปี1980) เพิ่มพรวดขึ้นไปอยู่ที่ 978 ล้านคนคือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว  ปีนั้นเองรัฐตัดสินใจออกกฎหมายคุมกำเนิดทันที  กำหนดให้สามี-ภรรยาหนึ่งคู่มีลูกได้ 1 คน และคุมเข้มอย่างยิ่งยวดเป็นเวลา 36 ปีติดต่อกันจนถึงปี 2015

เราต้องไม่ลืมว่าประเพณีแต่โบราณของจีนถือว่าการมีบุตรหลานสืบสกุลมาก ๆ ถือเป็นสิริมงคล  ยิ่งมีลูกหลานเป็นชายเยอะ ๆ ก็ยิ่งเข้าตำรา  แต่แล้วจู่ ๆ รัฐก็มากดดันให้มีลูกได้คนเดียว  จึงเป็นธรรมดาที่ผู้คนจะพยายามหาทางออกกันไปต่าง ๆ  ทำให้เกิดเรื่องราวที่ฟังดูคล้ายนิยาย (แต่เป็นเรื่องจริง)  เกี่ยวกับความพยายามของครอบครัวที่ต้องการมีลูกมากกว่า 1 คนและอยากได้ลูกเป็นชาย  ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องเล่าแบบนี้มามาก  ภาพยนตร์ที่มีพล็อตทำนองนี้ก็มีไม่น้อย  เช่น  ครอบครัวไหนมีลูกครบโควต้าคือ 1 คน  แต่เกิดตั้งครรภ์คนที่ 2 ขึ้นอีกก็ต้องไปทำแท้งด้วยน้ำตานองหน้า  รัฐบริการทำแท้งให้ฟรีตามคลีนิคที่มีอยู่ทั่วไป  หากครอบครัวไหนเสียดายลูกในท้องอยากเก็บไว้  ก็ต้องทนอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ รอจนครรภ์เริ่มใหญ่ก็เดินทางไปคลอดต่างถิ่น  ส่วนใหญ่จะไปหาพ่อแม่ที่บ้านนอกแล้วทิ้งลูกให้พ่อแม่เลี้ยง  ส่วนครอบครัวที่ไม่สมอยากได้ลูกคนแรกเป็นหญิงแล้วทำใจรับไม่ได้  มักจะทนเลี้ยงลูกพอให้โตหน่อยแล้วอุ้มไปเร่ขายหรือยกให้กับคนที่ไม่มีลูก  ส่วนตัวเองกลับบ้านไปไหว้พระขอให้ได้ลูกอีกคนเป็นชาย ฯลฯ

ผู้เขียนจำได้ว่าในช่วง 30 ปีที่จีนคุมกำเนิดอย่างเข้มงวด  รัฐต้องพยายามเปลี่ยนความคิดของคนจีนเรื่องชอบลูกชายไม่เอาลูกสาวด้วยการทำป้ายสโลแกนใหญ่ ๆ ติดตามถนนโดยเฉพาะตามสี่แยกใหญ่ ๆ ว่า “หนาน-หนวี่ โตวห่าว” (“ ชายหรือหญิงดีทั้งนั้น”)  แต่ทัศนคติที่ปลูกฝังกันมานับพันปีไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนได้ง่าย  ๆ

ระหว่างที่รัฐคุมกำเนิดประชากรอย่างเข้มงวดอยู่ 30 ปี  ประเทศจีนก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ เศรษฐกิจของประเทศดีวันดีคืน  การศึกษากระจายสู่ชนบทค่อนข้างทั่วถึง  คนหนุ่มสาวเมื่อจบการศึกษามักทิ้งไร่นาและพ่อแม่ในชนบทไปหางานทำในเมืองใหญ่  ครั้นการงานรัดตัวประกอบกับต้นทุนในการให้การศึกษาบุตรก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ (ส่วนใหญ่เป็นค่าเรียนพิเศษเพื่อให้ลูกเรียนเก่งแข่งกับคนอื่นได้)  ทำให้ความคิดที่ไม่อยากมีลูกมากกว่า  1 คนเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายบังคับ  นอกจากนี้ยังมีหนุ่มสาวอีกไม่น้อยที่หวงแหนเสรีภาพส่วนตัวมากจนไม่อยากแต่งงานและไม่อยากมีลูก  สิ่งเหล่านี้คือแนวโน้มใหม่ที่รัฐเองก็คงคาดไม่ถึง

ดังนั้น  36 ปีของการคุมกำเนิด  ประชากรจีนเพิ่มขึ้นจาก 978 ล้านเป็น 1,382 ล้าน คือเพิ่มขึ้น 404 ล้านคน  ดูตามตัวเลขเหมือนกับจะเพิ่มขึ้นพอ ๆ กับเมื่อ 30 ปีก่อนคุมกำเนิด (ซึ่งเพิ่มขึ้น 437 ล้านคน)   แต่นัยยะสำคัญของการเพิ่มครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนอย่างสิ้นเชิง  เพราะเป็นการเพิ่มที่ทำให้เกิดปัญหา “ความไม่สมดุลระหว่างวัย” ในหมู่ประชากร   คืออัตราเด็กเกิดใหม่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง  คนหนุ่มสาวซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง  (ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ออกไปทำงานต่างประเทศแล้วไม่ยอมกลับ)  ในทางกลับกัน  ประชากรที่ทวีจำนวนในอัตราส่วนที่สวนทางกับคนหนุ่มสาวกลับกลายเป็นคนแก่หลังเกษียณ  ซึ่งอายุขัยยืนยาวขึ้นจากชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขขึ้น  ถ้าปล่อยไว้จีนจะประสบปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทำงานอย่างแน่นอน  เมื่อมาถึงจุดนี้รัฐบาลจึงตัดสินใจหันกลับมากระตุ้นอัตราเด็กเกิดใหม่ด้วยการออก “นโยบายลูก 2 คน”  ในปี 2015  แต่ผลที่ได้น้อยเกินคาดอีกเช่นเคย  ปี 2021 ที่ผ่านมานี้เองนี้ รัฐเปลี่ยนนโยบายอีกครั้งเพิ่มขึ้นอีกเป็น “ลูก3 คน”  แต่.. ตัวเลขที่ออกมาหมาด ๆ กลับชี้ว่า  ในเวลาเพียง 1 ปี ประชากรจีนลดลงไปถึง 850,000 คน  และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปีอย่างที่เป็นข่าว

ผู้เขียนมองเห็นนัยยะสำคัญจากข่าวนี้อยู่ 2 เรื่อง  1) ประชากรสูงวัยของจีนจะพุ่งสูงขึ้นอีกสวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่  อย่างน้อยเป็นเวลายาว ๆ อีกระยะหนึ่ง (จนกว่ารัฐจะมีกลเม็ดวิเศษบางอย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง)  2) จีนจะรับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานคนหนุ่มสาวซึ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อย ชดเชยไม่ทันกับแรงงานที่เกษียณที่ในแต่ละปี   ทางออกที่จีนน่าจะทำคือ  1) หาทางไปลงทุนการผลิตนอกประเทศให้มากขึ้น  2) เร่งพัฒนาเทคโนโลยีจักรกลทันสมัยที่ใช้แรงงานน้อยลง  3) หาทางจูงใจคนจีนในต่างแดนให้กลับมารับใช้ชาติ

คิดแทนไปก็เหนื่อยเปล่า… เชื่อไหมล่ะ… จีนมองเห็นปัญหาทุกอย่างและเตรียมแผนรองรับอยู่แล้ว !!