ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าจีนและการแก้ชง

0
0

หลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ PBIC Pinto Talk ครั้งที่ 9 เรื่อง “ชงอย่างแบด ไหว้อย่างบ่อย เฮง ดัง ปัง รวย กับเทพเจ้าจีน” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีน มาร่วมเสวนา คือ คุณวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ กรรมการประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และคุณสมชาย จิว ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน เจ้าของเพจเฟสบุ๊ก ปักกิ่งให้ถึงแก่น 

คุณสมชาย จิว กล่าวถึง ความเชื่อและการนับถือเทพเจ้าของชาวจีนว่า ชาวจีน 5 กลุ่มภาษา คือ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ไหหลำ และฮากกาหรือจีนแคะ จะมีเทพเจ้าประจำกลุ่มที่นับถือแตกต่างกัน

เทพเจ้าจีนที่เป็นนับถือในประเทศไทย อาทิ เทพเจ้ากวนอู หลวงปู่ไต้ฮงกง หลวงปู่โจวซือกงหรือพระหมอ เจ้าแม่มาจู่ เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ย เทพเจ้าปุนเถ้ากง ตี่จู๋เอี๊ยะ เป็นต้น

คุณวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์  ได้เล่าเกร็ดของเทพเจ้าบางองค์ เช่น “กวนอู” เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จริง เรื่องราวของท่านอยู่ในสามก๊ก 2 ฉบับ คือ ฉบับวรรณคดีและฉบับพงศาวดาร ถ้าตอนนี้ “กวนอู” ยังมีชีวิตอยู่จะมีอายุ 1,800 ปี  กวนอูได้รับการยกย่องในเรื่องความซื่อสัตย์ เป็นคนนิ่ง เย่อหยิ่ง ไม่ค่อยพูด ชอบอ่านหนังสือ เป็นทหารปัญญาชนที่มีความซื่อสัตย์ จึงเป็นเทพยดาแห่งความซื่อสัตย์

เจ้าแม่มาจู่ หรืออาม่า เป็นเทพแห่งการเดินเรือ มีอายุเท่ากับเปาบุ้นจิ้น ถ้ายังมีชีวิตอยู่จะมีอายุราว 1,000 ปี เป็นหญิงชาวเล ไม่ค่อยพูด เมื่อมีพายุจะออกเรือช่วยคนที่เรืออับปาง ทุกครั้งที่ออกทะเลจะใส่เสื้อสีแดง จึงมีสีประจำของเจ้าแม่มาจู่คือสีแดง ดังนั้น เจ้าแม่มาจู่จึงเป็นเทพเจ้าที่ผู้มากราบไหว้มักจะขอเรื่องความราบรื่น

ส่วนความเชื่อเรื่องการแก้ชง คุณวิโรจน์เล่าว่าตามคำสอนของเล่าจื้อ บนฟ้าจะมีดิน ฟ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว เทวดา ด้านล่างมีมนุษย์ สิ่งที่ขับเคลื่อนจักรวาลให้หมุนไปได้คือ “กรรม” หรือที่ พุทธศาสนาเรียกว่า วัฏสงสาร และมีเทพเจ้าไท้ส่วย 60 องค์ ตาม 12 นักษัตรและ 5 ธาตุ คือ ทอง ไม้ น้ำ ไฟ ดิน แต่ละปีที่นักษัตรหมุนเวียนเปลี่ยนไป โดยไท้ส่วยจะถือบัญชีกรรมลงมา ที่มีผลต่อชะตาชีวิต ซึ่งเรียกว่า การชง ซึ่งมีทั้งชงดี และชงไม่ดี

คุณวิโรจน์มองว่า “วิธีการแก้ชงคือ ขอโทษ ขอรับกรรม และขอโอกาสที่จะทำกรรมดี ไม่ว่าจะเป็นกรรมที่รู้ก็ดี กรรมที่ไม่รู้ก็ดี กรรมที่จงใจก็ดี กรรมที่ไม่จงใจก็ดี กรรมที่พลั้งเผลอก็ดี กรรมที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี เพราะกรรมที่ทำไปแล้วไม่อาจทำคืนได้”

โดยวิธีการแก้ชง ในยุคปัจจุบันมีหลายรูปแบบ แต่ทั้ง 2 ท่านให้มุมมองว่า การแก้ชงไม่จำเป็นต้องแก้ชงด้วยการเสียเงินจำนวนมาก แต่ให้แก้ชงด้วยปัญญาคือ การทำความดีนั่นเอง

บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย