จีนรับมือกับปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างไร

0
0

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) เผยแพร่รายงาน State of World Population 2023 โดยคาดการณ์ว่า อินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แซงหน้าจีน ภายในกลางปี 2566 นี้ ในรายงานระบุว่า อินเดียจะมีประชากรจำนวน 1,428.26 ล้านคน ขณะที่จีนจะมีประชากรจำนวน 1,425.7 ล้านคน ทำให้อินเดียมีจำนวนประชากรมากกว่าจีนประมาณ 2.9 ล้านคน

โดยรายงานดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์ เนื่องจากการประเมินนี้ไม่ได้นับรวมประชากรของจีนในเขตปกครองพิเศษ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ขณะที่อินเดียไม่ได้มีการสำรวจจำนวนประชากรมาตั้งแต่พ.ศ. 2554

หากเป็นไปตามการคาดการณ์ดังกล่าว แม้จีนจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่จีนยังมีจำนวนประชากรรวมกว่า 1,400 ล้านคน คิดเป็นจำนวน 1 ใน 5 ของประชากรโลก และจีนยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จีนจึงยังเป็นประเทศมีกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อจำนวนมาก มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ยังมีประชากรวัยแรงงานที่มีศักยภาพทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ข้อมูลจากทางการจีนระบุว่า ปัจจุบันจีนมีประชากรวัยทํางานประมาณ 900 ล้านคน โดยมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ประมาณ 15 ล้านคนทุกปี ในด้านการศึกษา มีชาวจีนกว่า 240 ล้านคน ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีการติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจีน เช่น เรื่องสังคมผู้สูงอายุ และการหดตัวของประชากร ว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร โดยที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้คู่รักมีลูกได้สูงสุดสามคนเพื่อเพิ่มอัตราการเกิด รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสนับสนุนและสภาพแวดล้อมเพื่อเพิ่มอัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศ  รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย สุขภาพ การจ้างงาน เป็นต้น

ดังที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยกล่าวในการประชุมผู้แทนระดับชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยย้ำว่า บนเส้นทางของการพัฒนาประเทศจีนยุคใหม่ จีนมีแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับประชากรกว่า 1,400 ล้านคน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนจีนมีความกินดี อยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะ“ประเทศชาติคือประชาชน และประชาชนคือประเทศชาติ”

ขณะเดียวกันเพื่อรองรับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง จีนยังวางแผนพัฒนาประเทศ ด้วยการพัฒนาคุณภาพสูง ส่งเสริมการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดการใช้แรงงานคน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมคุณภาพสูงที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อเนื่อง ดังที่จีนเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรก เศรษฐกิจจีนเติบโตร้อยละ 4.5 โดยจีนคาดว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะเติบโตที่ร้อยละ 5

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของจีน จึงไม่ได้ส่งผลกระทบกับการขยายตัวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนในเวลานี้ โดยในระยะยาวต้องติดตามว่ารัฐบาลจีนจะมีการกำหนดแผนเพิ่มเติมเพื่อรองรับเรื่องโครงสร้างประชากรจีนที่เปลี่ยนแปลงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนอย่างไร

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย