จีนพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงให้ไทย

0
1

จีนและไทยมีความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงในหลายมิติ ก่อนหน้านี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ China Academy of Railway Sciences (CARS) มีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาบุคลากร เพื่อร่วมกันพัฒนาการเดินทางระบบรางของประเทศไทย

ล่าสุด สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า จีนตกลงที่จะถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงให้ไทย เพื่อให้ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของตัวเองได้

บทความในวารสาร Chinese Railway Standard Design ที่เขียนโดย Gao Rui ระบุว่า ในขณะที่ความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยมีมากขึ้น ไทยมีแผนในการออกแบบและสร้างทางรถไฟความเร็วสูงด้วยตัวเอง และหวังว่าในอนาคตจะมีการจะขยายความร่วมมือกับจีนต่อไป

เช่นเดียวกับที่ China Railway International Group ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการด้านวิศวกรรมและการเจรจาทางเทคนิคในต่างประเทศระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วม จีนตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะและความรู้ 11 ด้านที่เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงให้ไทย ภายใต้เงื่อนไขว่า จะไม่ละเมิดกฎหมายของจีน เช่น วัสดุที่ใช้ในการสร้างรางรถไฟ แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการวางรางในภูมิประเทศแบบต่างๆ การออกแบบสถานีรถไฟที่ช่วยให้การเดินทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ด้วยการใช้ระยะเวลาก่อสร้างที่สั้นลงและต้นทุนต่ำลง การเตรียมพื้นใต้รางรถไฟให้มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย การออกแบบและการก่อสร้างอุโมงค์ที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ทางจีนจะถ่ายทอดเทคนิคสำคัญต่างๆ ในการปรับปรุงคุณภาพการก่อสร้างและความรวดเร็วของการก่อสร้าง ตั้งแต่การสำรวจที่ดินและการจัดการทรัพยากรน้ำในบริเวณใกล้เคียง ไปจนถึงการจัดแสงสว่างในอุโมงค์ และระบบทำความร้อน การระบายอากาศ และการปรับอากาศในสถานีและอาคารอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและขยายโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจีนมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งใช้เวลาสร้างขึ้นเพียง 15 ปี มีเครือข่ายครอบคลุมมากกว่า 40,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ จีนยังพัฒนาการออกแบบโมดูลาร์สำหรับสถานีรถไฟและส่วนประกอบของโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สามารถประกอบได้อย่างรวดเร็วในไซต์งานก่อสร้าง การพัฒนาวัสดุใหม่สำหรับรางรถไฟที่สามารถช่วยลดค่าบำรุงรักษาในระยะยาว

ประสบการณ์ด้านวิศวกรรม ความรู้ และเทคโนโลยีของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของจีนจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับไทยและประเทศอื่นที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่คล้ายกันต่อไป

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ที่มา : SCMP

ภาพ : People’s Daily