พบหางไดโนเสาร์มีขนในอำพันอายุ 99 ล้านปี ครั้งแรกของโลก

0
770
พบหางไดโนเสาร์มีขนในอำพันอายุ 99 ล้านปี ครั้งแรกของโลก

ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนและแคนาดาค้นพบหางของไดโนเสาร์ที่มีอายุกว่า 99 ล้านปี ในประเทศเมียนมา โดยถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีภายในหินอำพันสีเหลือง คงเหลือไว้ทั้งกระดูก เนื้อเยื่อ หรือแม้แต่ขนของไดโนเสาร์

พบหางไดโนเสาร์มีขนในอำพันอายุ 99 ล้านปี ครั้งแรกของโลก

โดยเว็บไซต์เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค อ้างรายงานจากวารสาร “เคอร์เรนต์ไบโอโลจี” ระบุว่า การค้นพบก่อนหน้านี้ เป็นการค้นพบเพียงเส้นขนไดโนเสาร์ในอำพัน รวมถึงหลักฐานรอยประทับได้โนเสาร์มีขนในฟอสซิล ทว่าครั้งนี้นับเป็นการค้นพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์มีขนที่มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งจะสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการและโครงสร้างของขนไดโนเสาร์ได้มากขึ้น

ชิ้นส่วนหางไดโนเสาร์ดังกล่าวมีขนาด 1.4 นิ้ว ปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลขณะที่ด้านใต้มีสีขาวหรืออาจไร้สี ภาพจากการแสกนพบกระดูกสันหลัง 8 ชิ้นที่อาจเป็นส่วนกลางหรือส่วนปลายหางของไดโนเสาร์ และอาจมีกระดูกสันหลังรวม 25 ชิ้น โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าชิ้นส่วนดังกล่าวอาจเป็นชิ้นส่วนของ “Coelurosaur” ไดโนเสาร์ในตระกูลเดียวกันกับไทรันโนซอรัส ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นนกในปัจจุบัน

ไดโนเสาร์ในตระกูลเดียวกันกับไทรันโนซอรัส

ด้าน ดร.วราวุธ สุธีธร ผอ.ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ของประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า อำพันที่พบนั้นเป็นซากของไดโนเสาร์ตระกูล Coelurosaur กลุ่มกินเนื้อ ลักษณะรูปร่างคล้ายนกตัวใหญ่ ยุคประมาณจูราสสิค หรือ 150 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งในประเทศไทยเคยพบรอยเท้าของไดโนเสาร์พันธุ์นี้ที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น แต่ยังไม่เคยพบที่เป็นอำพันแล้วมีขนมาก่อน

สาเหตุที่ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ทั่วโลกตื่นเต้นกับอำพันหางไดโนเสาร์ที่พบในเมียนมา เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันการพบหลักฐานซากฟอสซิลไดโนเสาร์ในเมียนมา และเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังเป็นก้อนอำพันที่ค่อนข้างสมบูรณ์ขนาดเท่ากำปั้นมนุษย์ และเป็นก้อนฟอสซิลที่เป็นส่วนหางแล้วมีขนด้วย

ที่มา : www.nationalgeographic.com, www.matichon.co.th, www.komchadluek.net