ตั้งเป้าการค้าไทย-จีน 4.2 ล้านล้าน ใน 5 ปี พร้อมเดินหน้ารถไฟกรุงเทพฯ-หนองคาย

0
314
ตั้งเป้าการค้าไทย-จีน 4.2 ล้านล้าน ใน 5 ปี พร้อมเดินหน้ารถไฟกรุงเทพฯ-หนองคาย

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐจีน และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีไทยเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทางการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจจีน-ไทยครั้งที่ 5 ณ กรุงปักกิ่ง มีวัตถุประสงค์ปฏิบัติตามความเข้าใจสำคัญที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้ร่วมกันบรรลุไว้ กระชับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผลักดันการพัฒนาของ “1 แถบ 1 เส้นทาง” ให้ลุ่มลึก โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่า ต้องแสดงบทบาทของกลไกแบบทวิภาคีที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างเต็มที่ ประสานงานแผนการพัฒนาของทั้งสองประเทศ ผลักดันความร่วมมือทางการค้า การลงทุนและโครงการสำคัญต่อไป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนได้วางเป้าหมายขยายมูลค่าการค้าสองฝ่ายให้เพิ่มขึ้นสองเท่าของมูลค่าการค้าปัจจุบันภายใน 5 ปี หรือมีมูลค่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.2 ล้านล้านบาท ในปี 2563

ตั้งเป้าการค้าไทย-จีน 4.2 ล้านล้าน ใน 5 ปี พร้อมเดินหน้ารถไฟกรุงเทพฯ-หนองคาย

ทั้งนี้ ได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันในการจัดทำแผนปฏิบัติการที่เน้นความร่วมมือใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ด้านคมนาคม โลจิสติกส์ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมใน 10 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านดิจิทัล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และพลังงาน นอกจากนี้ ยังได้มีความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ใน 7 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.ยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อการเชื่อมโยง (Connectivity) กับยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ของจีน ทั้งแง่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ คือ รถไฟไทย-จีน และอินเตอร์เน็ตไฮเวย์ที่จะเชื่อมโยงไทย จีน สู่ประเทศกลุ่ม CLMV

2.ยุทธศาสตร์เชื่อมโยง Thailand 4.0 กับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงของจีน โดยเฉพาะการเชื่อมโยง China Academy of Science ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่สุดของจีนทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเข้ากับ Innovation Hub ที่ไทยจะตั้งอยู่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

3.ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ใน New S Curve ใน EEC

4.ผลักดันการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

5.วางแผนการค้าร่วมกันที่จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากปัจจุบัน

6.เชื่อมโยงยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดและระดับมณฑลของจีน

และ 7.ความร่วมมือเพื่อผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้เป็นจริง โดยไทยเป็นศูนย์กลางในกลุ่ม CLMV

นอกจากนี้ ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ระหว่าง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายหวังเสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เพื่อยืนยันความร่วมมือในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ กรุงเทพฯ-แก่งคอย แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุต แก่งคอย-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย

โดย จากการประชุมทวิภาคีครั้งนี้ นายสมคิด กล่าวว่า ประสบความสำเร็จสูงมากเมื่อเทียบกับ 4 ครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นครั้งแรกที่สามารถผลักดันให้เป็นการประชุมยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงนอกเหนือจากภาคเกษตร

ที่มา : โพสต์ทูเดย์