รู้จักโรคไอบีเอส โรคที่คนไทยเป็นกันกว่า 5 ล้านคน

0
274
รู้จักโรคไอบีเอส โรคที่คนไทยเป็นกันกว่า 5 ล้านคน

โรคไอบีเอส (IBS : Irritable bowel syndrome) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ โดยที่ไม่พบความผิดปกติอะไรที่โครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด หรือเรียกง่ายๆว่า โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน นั่นเอง

โดย รศ.นพ.อุดม คชินทร จากโรงพยาบาลธนบุรี ได้ให้ข้อมูลว่าโรคดังกล่าวมักจะไม่แสดงอาการใดๆที่เป็นการบ่งชี้ถึงอาการเจ็บป่วย เช่น ลำไส้ไม่มีอาการอักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง เป็นต้น และการตรวจเลือดต่างๆ ก็ไม่พบความผิดปกติเช่นกัน รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่นๆที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเบาหวาน

โรคไอบีเอสเป็นโรคเรื้อรัง มักเป็นๆ หายๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมแม้จะเป็นมาหลายๆ ปี และไม่ทำอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้ไม่น้อย ทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการต่างๆ ของโรคนี้เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังลำไส้ จากหลักฐานที่มีอยู่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไอบีเอส โดย 3 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

1.การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก

2.ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหารซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้น อยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการตอบสนองมากกว่ามากผิดปกติ มีการบีบตัวและการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้อง เสีย หรือท้องผูกเป็นต้น นอกจากอาหารแล้วตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญ คือความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนเสริมให้มีอาการมากขึ้น

3.มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง (Brain-gut axis) โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน

ในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยไอบีเอสประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ซึ่งอาจจะเป็นการประมาณที่ต่ำกว่าเป็นจริง เพราะในรายที่มีอาการไม่มากอาจคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคนี้ พบว่ามีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่ไปพบแพทย์ โรคไอบีเอสสามารถพบได้ทุกวัยตั้งแต่ในวัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้บ่อยในคนวัยทำงานคืออายุเริ่มต้นเฉลี่ยระหว่าง 20-30 ปี และจะพบได้บ่อยขึ้นไปจนถึงอายุ 60 ปี หลังอายุ 60 ปี จะพบน้อยลง ที่สำคัญคือโรคนี้พบได้บ่อยในคนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมชั้นกลางขึ้นไป

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า จากการศึกษาติดตามผู้ป่วยประมาณ 4,600 คน เป็นเวลา 5-8 ปี พบว่าร้อยละ 74-95 ยังคงมีอาการอยู่เช่นเดิม โดยโรคไอบีเอสเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและไม่ทำให้ผู้ป่วยตาย และไม่ได้พัฒนาให้นำไปสู่โรคร้ายแรงต่างๆ อย่างโรคมะเร็งลำไส้ แต่ก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย

อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการเกิดขึ้น อย่าได้วิตกกังวัล เครียดมากจนเกินไป เพราะความเครียดก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาอย่างถูกต้อง และรวดเร็วจนไม่ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบในชีวิตประจำวัน

ที่มา : www.thonburihospital.com, www.thairath.co.th, www.bangkokhospital.com